ส่อง 7 เทรนด์การศึกษาในยุคเทคโนโลยี เปลี่ยนโลกแห่งอนาคต

เทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่ๆ ในยุคดิจิทัล ที่มีรอบของการพัฒนาและความก้าวหน้าอย่างยากจะตามทัน กำลังเปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิต เปลี่ยนวิธีคิดของเราต่อการเรียนรู้ แล้วเราจะเตรียมเด็กๆ ของเราให้อยู่ได้ในยุค Disruption และปรับตัวให้เข้ากับโลกอนาคตที่ไม่หยุดนิ่งและไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ นี้ได้อย่างไร?

แน่นอนว่า ‘การศึกษา’ เป็นรากฐานที่สำคัญที่เราต้องวางให้กับเด็กๆ และการศึกษาในสมัยนี้ก็มีรูปแบบหน้าตาต่างไปจากเมื่อก่อนอย่างไม่เหลือเค้าโครงเดิม ยิ่งทุกวันนี้โลกเราเปลี่ยนแปลงไปวันต่อวัน การให้การศึกษา การออกแบบห้องเรียน และการจัดการเรียนการสอน จึงไม่อาจใช้รูปแบบแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป ท่ามกลางโลกเทคโนโลยีกำลังมา ทักษะแบบเดิมๆ ที่เคยอยู่ในหลักสูตรอาจไม่เพียงพอแล้ว ภาษาที่สองที่สามอาจไม่ใช่ภาษาเพื่อสื่อสารระหว่างบุคคล หากแต่เป็นภาษาและวิธีคิดที่มนุษย์จะมีปฏิสัมพันธ์กับความเป็นระบบ กับคอมพิวเตอร์ ด้วยพลังของเทคโนโลยีอย่าง Coding และ 3D printing อาจทำให้เด็กๆ ต้องเปลี่ยนวิธีการเรียนรู้จากการเป็นเพียงผู้รับความรู้ไปเป็นผู้สร้างสรรค์

เมื่อห้องเรียนสี่เหลี่ยมๆ เด็กนั่งเป็นแถวๆ อาจไม่ใช่รูปแบบการศึกษาที่เข้ากับศตวรรษใหม่อีกต่อไป เราจึงต้องหันมามอง 7 กระแสสำคัญ (key trend) ที่รวบรวมจากหน่วยงานด้านการศึกษาสำคัญของโลกทั้งจาก K12 ของสหรัฐอเมริกา หรือรายงานของ CORE องค์กรเพื่อพัฒนาการศึกษาชั้นนำ เพื่อตอบคำถามว่าเรากำลังจะให้การศึกษาอนาคตของเราเดินไปในทิศทางแบบไหน

Coding Literacy : ความสามารถในการอ่านและเขียนภาษาแห่งอนาคต เมื่อโลกของเราก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล หุ่นยนต์และ AI ก็ยิ่งจะเป็นส่วนสำคัญของโลกธุรกิจและการผลิต ดังนั้น ‘ภาษา’ สำคัญในโลกยุคต่อไปจึงไม่ใช่ภาษาที่ใช้สื่อสารระหว่างมนุษย์ แต่เป็นภาษาที่เราใช้สื่อสารเข้าใจและจัดการกับระบบคอมพิวเตอร์ ทักษะความเข้าใจเรื่องโค้ดและระบบการเขียนโค้ด (coding) จึงเป็นทักษะสำคัญ ดังนั้นความเข้าใจเรื่อง code กำลังจะกลายเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ภาษา (literacy) เป็นทักษะที่ไม่ควรจะอยู่แค่ในภาควิชาคอมพิวเตอร์ แต่คือทักษะสำหรับทุกคน

Student as Creators : จากเดิมที่บทบาทของผู้เรียนเป็นแค่ฝ่ายรับและเรียนรู้สิ่งต่างๆ แต่ด้วยพลังของเทคโนโลยีในโลกยุคใหม่ ที่เปิดโอกาสให้ใครก็ตามสามารถสร้างผลงานของตัวเองได้ด้วยเพียงคอมพิวเตอร์และโปรแกรมในโทรศัพท์มือถือ ดังนั้นนักเรียนในยุคทองของการสร้างสรรค์จึงจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้รับ (passive) มาเป็นผู้สร้าง (active) ดังนั้นนักเรียนและการให้การศึกษาในโลกสมัยใหม่จึงต้องเน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้ผลิตไม่ใช่แค่นั่งเฉยๆ แล้วรับการเรียนแบบนิ่งๆ อีกต่อไป

Empathy and Emotion Understanding : ความเข้าอกเข้าใจผู้อื่น ถือเป็น Soft Skills หลักๆ ที่สามารถจำแนกมนุษย์ออกจากหุ่นยนต์ เพราะการศึกษาคือการสร้างมนุษย์ ไม่ใช่สร้างหุ่นยนต์ ยิ่งต่อไปเรากำลังก้าวสู่ยุคเทคโนโลยี Soft Skills เช่น ความเข้าใจและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน จึงเป็นสิ่งที่โลกแห่งอนาคตกำลังต้องการ ดังนั้นประเด็นเรื่องการส่งเสริมความเป็นมนุษย์ ความเข้าอกเข้าใจทั้งตนเองและผู้อื่น จึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่สำคัญของคนในยุค AI

Collaborative learning : ความสำเร็จและ การแก้ปัญหาต่างๆ ล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นได้จากการร่วมมือกัน ยิ่งในโลกทุกวันนี้ที่อุดมไปด้วยเครื่องมือด้านเทคโนโลยีที่ช่วยเชื่อมโยงและช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้เป็นอย่างดี เช่นการทำงานร่วมกับคนอื่นผ่านแพลตฟอร์มของกูเกิลหรือไมโครซอฟท์ ดังนั้นห้องเรียนในอนาคตควรจะปลดล็อคจากความเคยชินเดิมๆ เรื่องความสำเร็จส่วนบุคคล เชิดชูความอัจฉริยะของเด็กคนใดคนหนึ่ง แต่จริงๆ แล้วหันมาเน้นทั้งแนวคิดของการใช้เครื่องมือยุคใหม่เพื่อทลายข้อจำกัดด้านเวลา สถานที่ ไปจนถึงกลุ่มคน เพื่อให้ทุกคนสามารถสื่อสาร เชื่อมโยง และเรียนรู้ร่วมกันได้

Family and Community Involvement : ถึงเวลาแล้วที่ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนมุมมองของการศึกษา ว่าการให้ความรู้ไม่ใช่แค่ภาระของโรงเรียนหรือครูอาจารย์อีกต่อไป หากแต่เป็นหน้าที่ที่ทั้งครอบครัวและชุมชนที่ต้องร่วมกันส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ให้รอบด้าน การที่ใครก็ตามต่างสามารถมีส่วนรับผิดชอบและสอดส่องว่าเด็กคนนี้มีความต้องการความช่วยเหลือหรือส่งเสริมพัฒนาอะไรเป็นพิเศษหรือไม่นั้น เป็นกระแสที่ปรับจากความเชื่อเรื่องการให้การศึกษาแบบเดิมๆ มาเป็นการส่งเสริมพัฒนาการของเด็กๆ ไม่ว่าเด็กจะอยู่ที่ไหน

Individualized Learning : เด็กๆ แต่ละคนจะมีลักษณะพิเศษ มีความสามารถเฉพาะบุคคล ภายใต้นิยามของ Multiple Intelligences (พหุปัญญา) ปัญหาของการเรียนรู้แบบเดิมๆ คือการตั้งมาตรฐานแบบเดียวขึ้นมาและนำมาใช้กับเด็กทุกคน ผลผลิตทางการศึกษาที่ได้มา จึงเป็นเหมือนผลิตภัณฑ์จากสายพานเครื่องจักร เปรียบเหมือนอาหารกระป๋อง ที่แทบจะหาความโดดเด่นและความแตกต่างไม่เจอ นักการศึกษาสมัยใหม่จึงเห็นว่า ความแตกต่างของเด็กๆ ต้องการการรูปแบบการเรียนรู้ที่เฉพาะเจาะจง (Personalized Learning) มากกว่า เพื่อพัฒนาศักยภาพและลักษณะเฉพาะด้านของเด็กแต่ละคนให้ได้ถึงจุดสูงสุด

Redesigning learning Spaces : ห้องเรียนในโลกสมัยใหม่ควรถูกออกแบบให้เป็นห้องเรียนที่ยืดหยุ่น เป็นห้องเรียนที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ จับกลุ่ม เปลี่ยนกลุ่ม ล้อมวงเพื่อปรับรูปแบบการเรียนรู้จากกันและกันได้อย่างอิสระ เป็นห้องเรียนที่ทันสมัยทั้งในด้านความคิดและพร้อมด้วยอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีต่างๆ และแวดล้อมด้วยสิ่งเร้าที่จะกระตุ้นให้เด็กๆเกิดความกระหายใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา

ที่มา : ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ

Scroll to Top