Positive Learning: ถอดบทเรียนแห่งความสุข ต้นแบบการศึกษาจาก ฟินแลนด์

ทำไม ฟินแลนด์ ติดโผอันดับโลก ประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก ด้วยสถิติประชากรที่อ่านหนังสือออก 100% และสถิติประชากรส่วนใหญ่พูดได้มากกว่า 1 ภาษา ..

หากกวาดตามองการศึกษาที่มีคุณภาพ แน่นอนว่าประเทศ ฟินแลนด์ ย่อมติดโผอันดับต้นๆ ของโลก การันตีด้วยผลการสอบวัดระดับด้านการศึกษานานาชาติอย่าง Programme for International Student Assessment หรือข้อสอบ PISA ที่ระบุว่านักเรียน ฟินแลนด์ มีผลการเรียนคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการอ่านดีกว่ากลุ่มประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐอเมริกา จีน อังกฤษ หลายปีติดต่อกัน อีกทั้งล่าสุด World Economic Forum และองค์กรอิสระ NJ MED (New Jersey Minority Educational Development) ยังยกย่องให้เป็นประเทศที่มีการศึกษาดีที่สุดในโลก ด้วยสถิติประชากรที่อ่านหนังสือออก 100% และสถิติประชากรส่วนใหญ่พูดได้มากกว่า 1 ภาษา

ในโลกยุคใหม่ อะไรคือเคล็ดลับที่ทำให้การศึกษาใน ฟินแลนด์ สามารถปรับตัวเท่าทันยุคสมัย สร้างหลักสูตรที่มีคุณภาพ และสามารถสร้างความสุขให้แก่นักเรียนไปพร้อมกัน

“เคล็ดลับความสำเร็จของฟินแลนด์ คือการให้คุณค่าแก่การศึกษาที่มีความสุข”

โรงเรียนในประเทศฟินแลนด์ ไม่ได้สอนเด็กเพื่อเตรียมตัวสำหรับการสอบวัดระดับ หากแต่ต้องการให้เด็กและเยาวชนรู้สึกดีต่อตัวเอง มีสุขภาพจิตที่ดี ซึ่งทั้งหมดนั้นจะนำมาสู่ผลการเรียนที่ดีได้ในท้ายที่สุด และไม่ว่าเด็กคนนั้นจะมีความพิเศษหรือแตกต่างจากคนอื่นๆ อย่างไรก็ตาม การศึกษาที่มีความสุขนี้ ควรเป็นสิ่งที่เด็กทุกคนต้องได้รับอย่างเท่าเทียมกัน ภายใต้วิสัยทัศน์ที่เห็นพ้องต้องกันว่า โรงเรียนไม่ใช่แค่สถานที่ที่สอนทักษะทางวิชาการแก่นักเรียนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่ต้องการสอนนักเรียนทุกคน ทุกประเภท และทำให้พวกเขามาโรงเรียนอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน พื้นฐานการเรียนในประเทศฟินแลนด์จึงเป็นการสนับสนุนให้เด็กเล่นกันมากขึ้น อยู่กับเพื่อนให้มากขึ้น เพื่อลดความเครียดของตัวนักเรียน

การออกแบบหลักสูตรของฟินแลนด์ตั้งอยู่บนพื้นฐานความเข้าใจธรรมชาติของเด็ก ว่าเป็นวัยแห่งความอยากรู้อยากเห็นและเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้น ดังนั้น หลายโรงเรียนในฟินแลนด์จึงเลือกจัดช่วงเวลาให้เด็กออกไปทำกิจกรรมนอกอาคาร หรือวิ่งเล่นกับคนรุ่นราวคราวเดียวกันทุกๆ 45 นาทีหลังจบคาบเรียนเพื่อผ่อนคลายและเสริมสร้างสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง

ภาพความมีชีวิตชีวาของห้องเรียนในประเทศฟินแลนด์ จะเห็นว่า เด็กๆฟินแลนด์จะไม่นั่งเงียบๆ และรอฟังเนื้อหาจากครูผู้สอนในเวลาเรียน แต่จะเล่นกัน คุยกัน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน เพราะคุณครูต้องการให้เด็กมีทักษะด้านการปฏิสัมพันธ์ที่ดี และนักการศึกษาของประเทศฟินแลนด์เชื่อว่าความรู้ไม่ได้มีที่มาจากตัวครูผู้สอนเพียงคนเดียว แต่สามารถเกิดขึ้นได้จากการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างนักเรียนด้วยกัน

การกระตุ้นให้เด็กแลกเปลี่ยนความคิดเห็นยังช่วยเสริมสร้างทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) และการเรียนรู้ด้วยตัวเอง เมื่อผนวกเข้ากับความก้าวหน้าด้านอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์และภาค ICT ที่เข้มแข็ง ฟินแลนด์จึงสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีด้านต่างๆ ควบคู่ไปกับการเรียนการสอน และทำให้นักเรียนสามารถเรียนรู้ได้สนุกสนานยิ่งขึ้น

“หัวใจสำคัญของการสอน คือการเห็นคุณค่าในตัวนักเรียน” หลายโรงเรียนในประเทศฟินแลนด์มองว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการสอนไม่ใช่เนื้อหา แต่เป็นวิธีการและบรรยากาศในห้องเรียน เพราะนักเรียนอาจจะจำสิ่งที่ครูสอนไม่ได้ แต่พวกเขาไม่มีวันลืมความรู้สึกที่มีต่อครู ถ้าเด็กเริ่มรู้สึกกับครูในแง่ลบ นั่นย่อมเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เด็กออกห่างจากครู ออกห่างจากโรงเรียน ดังนั้น สิ่งที่ไคซาพยายามเน้นย้ำความสำคัญคือตัวตนและการแสดงออกของครูในทุกสถานการณ์

สิ่งที่ครูทุกคนควรตระหนักคือวิธีการที่เราพูดคุย มีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนเป็นอย่างไร รวมถึงรับรู้บรรยากาศการเรียนการสอนในห้องว่าเป็นอย่างไร เพราะบรรยากาศที่ดีเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้นักเรียนมีผลการเรียนดีขึ้น ดังนั้น คุณครูต้องย้อนมองตัวเองว่า ครูกำลังแสดงตัวตนแบบไหนในห้องเรียน และครูได้แสดงให้นักเรียนได้รับรู้ว่าเราเห็นคุณค่าของพวกเขามากพอแล้วหรือยัง

อ้างอิง: Bhawan Thanalerdsomboon on | Jan 26, 2020, Social Issuesม, Education Projects, การศึกษาไทย: เปลี่ยน ความเหลื่อมล้ำ เป็น ความเสมอภาคกสศ. x 101Spotlights

ขอบคุณภาพจาก: https://pixabay.com/illustrations/to-learn-school-preschool-board-2412776/ และ https://pixabay.com/photos/notebook-book-grades-study-2152429/

Scroll to Top