“Inquisitive Mindset” เมื่อความอยากรู้… สำคัญกว่าความรู้

ตอนนี้ความรู้มากมายมีอยู่บนอินเทอร์เน็ต กดทีสองทีเราก็รู้แล้ว แต่ที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ และไม่ได้พูดถึงก็คือ ทำอย่างไรผู้เรียนถึงจะมี Inquisitive Mindset “ทำอย่างไรเด็กๆจึงจะมีจิตใจใคร่ใฝ่รู้”

Key Point ของการศึกษาไทย ที่คุณครูและนักเรียนในโลกยุคใหม่ ควรให้ความสำคัญ คือ “จิตวิญาณแห่งความอยากรู้” (Inquisitive Mindset) ระบบการศึกษาไทย เดิมเน้นแต่คำว่า “ความรู้” ที่ตอนนี้ความรู้มากมายมีอยู่บนอินเทอร์เน็ต กดทีสองทีเราก็รู้แล้ว แต่ที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ และไม่ได้พูดถึงก็คือ ทำอย่างไรผู้เรียนถึงจะมี Inquisitive Mindset ซึ่งเป็นคำที่คุณครูควรตระหนักอยู่เสมอว่า “ทำอย่างไรเด็กๆจึงจะมีจิตใจใคร่ใฝ่รู้”

ยกตัวอย่าง การทดลองวิทยาศาสตร์ง่ายๆสักเรื่องหนึ่ง แทนที่คุณครูจะบอกว่า การทดลองเรื่องนี้สรุปแล้วมี 7 ขั้นตอน แค่นั้นคงไม่พอ แต่คุณครูต้องกระตุ้นให้เด็กๆบอกให้ได้ว่า 7 ขั้นตอนนี้จะนำไปใช้อย่างไร หรือจะตัดสินใจเลือก 7 ขั้นตอนนี้ มีความท้าทายอะไรอยู่มี Ecosystem อะไรที่เราจำเป็นที่จะต้องพิจารณา ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและสำคัญกว่ามัวแต่มานั่งบอกว่าผลสรุปว่าคืออะไร

ซึ่งนั่นก็เป็นจุดประสงค์หลักของกระบวนการเรียนรู้ ที่ควรจะออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้ง ประทับใจในโลกที่แสนมหัศจรรย์ใบนี้ รู้จักมองมันและพัฒนาความใฝ่รู้ใฝ่เรียน อยากรู้อยากเห็น ซึ่งนั่นจะเป็นเสาหลักของวัฒนธรรมด้านการศึกษาที่แท้จริงในโลกยุคใหม่นี้

เด็ก ๆ ที่มีสัญญาณของ Inquisitive Mindset ส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กเจ้าปัญญา ขี้สงสัย ไม่ค่อยยอมรับความเชื่อ หรือความคิดของคนอื่นได้ง่าย ๆ และเมื่อสงสัยอะไรแล้ว ก็มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะค้นคว้าหาคำตอบ หรือแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง

ไอน์สไตน์นั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่า ชีวิตของเขาใน 1 ชั่วโมงจะใช้เวลาตั้งคำถามที่ดี 55 นาที อีก 5 นาที เอาไว้ใช้หาคำตอบ ซึ่งตรงกับหลักของวิชาปรัชญาที่เชื่อว่า คำถามที่ดี มีค่ามากกว่าการแสวงหาคำตอบ หลักง่าย ๆ ในการตั้งคำถามที่ดีก็คือ การคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ผ่านคำถาม What? Why? How? และคุณครูเองก็สามารถกระตุ้นความกระหายใคร่รู้ให้กับเด็ก ๆ ได้ โดยการชักชวนให้เด็กนักเรียนได้คิดและหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน ท่ามกลางบรรยากาศของการพูดคุยที่เน้นการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่นักเรียน

คำว่า Inquisitive มีความหมายเดียวกันกับ Enquirer ในตัวอักษร E ของคำว่า ACTIVE ที่เป็น Character ของโรงเรียนปลูกปัญญา กล่าวถึง ผู้ที่มีความกระหายใคร่รู้ อันเป็นพลังภายในที่จะขับเคลื่อนผู้เรียนไปสู่ความรู้ต่างๆ ที่พวกเขาสนใจอยู่ในขณะนั้น ส่วนความตื่นเต้นอันเป็นอาการที่จะได้ทำกิจกรรมสนุกๆ นั้นเกิดจากการเร้าของครู…ซึ่งเป็นสิ่งเร้าจากภายนอก

เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีต่อเมื่อเขาเกิดความสนใจเบื้องลึกภายใน ที่เป็นแรงส่งให้เกิดการขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่แท้จริง อันเป็นบ่อเกิดของพลังภายในตัวเอง ฉะนั้นครูจะต้องสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ก่อนการเรียนรู้ในทุกเรื่อง

Scroll to Top