เปลี่ยน “3” ความกังวล เป็นความเข้าใจ : พ่อแม่วัยอนุบาล “ไม่จิตตก”

“เด็กในวัย 3-6 ขวบ เขากำลังทำความรู้จักกับโลกและพัฒนาทักษะชีวิต (Life Skills)” เปลี่ยน “3” ความกังวล เป็นความเข้าใจ : พ่อแม่วัยอนุบาล “ไม่จิตตก”

จากงานวิจัยของทีม Mappa Learning ได้พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่ของเด็กๆที่อยู่ในช่วงวัยอนุบาล ว่าด้วยเรื่องความกังวลต่างๆ และพบว่า “ความกังวล 3 อันดับแรก คือ

1. ลูกจับดินสอไม่ถูกวิธี

2. ชอบปาของลงพื้น ปาใส่คนอื่น 

3. พูดได้เป็นคำ ยังไม่ยาวเป็นประโยคสักที”

เรามาดูคำอธิบายอย่างละเอียดสำหรับทั้งสามความกังวลนี้ ที่เมื่อพ่อแม่เข้าใจก็จะคลายกังวล รู้ว่าเด็กๆเขากำลังทำความรู้จักโลกและนี่คือก้าวสำคัญของการพัฒนาทักษะตามวัยนั่นเอง

1. การจับดินสอให้ดีเป็นเพียงปลายทางของพัฒนาการกล้ามเนื้อมัดเล็กของเด็กๆ ซึ่งจะพัฒนาไปในทางที่ดีได้เมื่อพวกเขาได้รับการกระตุ้นจากคุณพ่อคุณแม่ ให้ใช้มือจับของเล่นชิ้นเล็ก ชิ้นใหญ่ หรือการหยิบจับอาหารเข้าปากด้วยตัวเอง ทั้งนี้ พัฒนาการการจับดินสอของเด็กๆ มี 4 ช่วง

– เด็กวัย 1-1 ขวบครึ่ง จะจับดินสอแบบ Cylindrical Grasp

– เด็กวัย 2-3 ขวบ จะจับแบบ Digital Grasp

– เด็กวัย 3 ½ – 4 ขวบ จะเริ่มจับแบบ Modified Tripod Grasp

– เด็กเข้าวัยอนุบาลจะเริ่มจับแบบ Tripod Grasp

 2. ลูกชอบโยนและเขวี้ยง ปาของลงพื้น แม้กระทั่งปาใส่คนอื่น  จนบางทีเราก็งงและสงสัยว่าทำไมลูกชอบปล่อยของตก ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเก็บขึ้นมาให้ ปล่อย-ตก-เก็บ ทำอย่างนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนเหนื่อย

เด็กเล็ก ๆ กำลังทำความรู้จักกับส่วนต่างๆ ทำความเข้าใจแรงโน้มถ่วง และการเคลื่อนที่ของวัตถุต่างขาด ต่างน้ำหนัก ที่มีอยู่มากมายเหลือเกินบนโลกใบนี้ ด้วยการทดลองที่ริเริ่มขึ้นเอง เขาจึงชอบต่อบล็อคไม้ขึ้นสูงๆ แล้วปล่อยให้ตกลงมา หรือพอคุณพ่อคุณแม่เก็บของขึ้นมาให้ เขาก็ผลักตกลงไปอีก บางครั้งก็อยากจะใช้แขนทั้งแขนปาสิ่งของแล้วเก็บ ปาแล้วเก็บ ทำอย่างนั้นซ้ำๆ คุณพ่อคุณแม่แค่หายใจลึกๆ ปล่อยเด็กๆ สำรวจโลก และค่อยๆ กำหนดกติกาให้สามข้อ คือ

  • ไม่ทำร้ายตัวเอง
  • ไม่ทำร้ายคนอื่น
  • ไม่ทำลายข้าวของ

ด้วยวิธีการสื่อสารแบบ Kind but Firm คือ การพูดอย่างชัดเจนแต่ไม่ดุโวยวาย

3. เด็กเล็กๆ ยังใช้คำหรือประโยคได้ไม่ดีนัก แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเขาไม่สื่อสาร เด็กๆ พยายามที่จะสื่อสารตลอดเวลา ผ่านทางเสียงร้องบอกว่าหิว ผ่านการใช้ภาษาท่าทาง เช่น การชี้ให้หยิบ หรือการคุยด้วยภาษาอ้อแอ้ (babble) ที่ฟังไม่เป็นภาษา

พ่อแม่สามารถช่วยลูกให้พยายามสื่อสารได้ด้วยการรับฟัง และมองเห็นว่าเขากำลังใช้ความพยายามในการสื่อสาร ‘ทักษะทางภาษา’ จะเป็นทักษะที่พัฒนาขึ้นหลังจากนั้นเมื่อเด็กๆ รู้ว่า ‘ความพยายามในการสื่อสาร’ นั้นมีความหมายกับใครบางคน ไม่ว่าจะเป็นกับคุณพ่อคุณแม่หรือกับคนในครอบครัว

Scroll to Top