โรงเรียนของเด็กเล็ก ควรจะเป็นโรงเรียนแบบไหน ?

หลายครั้งที่พ่อแม่หาโรงเรียน ที่ไม่ใช่โรงเรียนที่สอนเก่ง ที่รู้ไปหมด แต่อยากได้โรงเรียนที่สอนให้ลูกทานข้าวเองเป็น สอนให้ช่วยตัวเองได้เกือบทุกอย่าง ซึ่งแบบนี้จะสุขใจมากกว่า …

โรงเรียนของเด็กเล็ก ควรจะเป็นโรงเรียนที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าเขาจะอยู่ต่อในโลกนี้ได้อย่างไร ท่านผู้ปกครองตอนนี้เป็นต้นแตกกิ่ง แต่ลูกของท่านเป็นต้นอ่อน ดังนั้นควรให้เขาได้เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น มะพร้าวก็โตเป็นมะพร้าว มะม่วงก็ควรเติบโตเป็นมะม่วง แต่ที่สำคัญคือเติบโตเป็นหนุ่มสาวที่สมบูรณ์ อ่อนน้อม อ่อนโยน อดทน อาทร อภัย

แล้วเราจะช่วยลูกของเราได้อย่างไร…… วิธีช่วยคือ “ไม่ต้องเป็นห่วง”

“ลูกยังอ่าน ก ไก่ไม่ออกเลย แต่คนที่อ่านไม่ออกนั่นแหละ เป็นคนเดียวกับเมื่อเขาทำน้ำหก เขาเอาผ้ามาเช็ด หรือเมื่อแม่ไม่สบายเขาเอามือมาอัง สิ่งไหนสุขกว่ากัน”

เขาดูแลตัวเองได้ แถมเผื่อแผ่ให้คนข้าง ๆ สร้างความรักตนเอง รักเพื่อน รักโรงเรียน และในอนาคตเขาก็จะรักสังคมและรักชาติ สิ่งนี้ต้องสอนตั้งแต่เด็ก ถ้าเด็กได้อยู่ท่ามกลางความรัก เขาก็จะเติบโตอย่างคนที่มีความรัก แต่ถ้าเติบโตท่ามกลางการแกล้ง ความโกรธ การพูดไม่เพราะ แล้วเขาจะเอาความรักไปให้ใคร บ้านก็สร้างส่วนหนึ่ง โรงเรียนก็สร้างอีกส่วนหนึ่ง ถ้าโรงเรียน บ้าน ผู้ปกครองเข้าใจกันเด็กจะมีความสุข แต่ถ้าไม่เข้าใจกันเด็กก็จะเกิดความสับสน

บางทีถ้าเห็นเขาเล่น อย่าเพิ่งโกรธว่าเอาแต่เล่น เด็กสามารถสร้างองค์ความรู้ได้จากสิ่งที่เขาสังเกตเห็นรอบตัว เด็กนั่งเฉย ๆไม่ได้ เพราะในหัวเขาจะคิดตลอด และจะแสดงออกมาที่ตา มือ ปาก เช่น นั่งพูดคนเดียวก็ได้ แต่สิ่งนี้เขากำลังเรียนรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง ดังนั้น จงเฝ้าดูว่าเขาเล่นอะไร ก็จะได้ฟังคำสนุก ๆ ตลก ๆ จากเขา แล้วเราจะรู้ว่าเขาคิดอะไร แต่ควรสร้างความมั่นคงให้แก่เขาอย่างสม่ำเสมอว่า อะไรที่เล่นได้และอะไรที่เล่นไม่ได้ การเล่นทำให้เด็กค้นพบหลายอย่าง ที่สำคัญคือค้นพบตัวเขาเอง ว่าเขาสามารถทำอะไรได้ รู้อะไรบ้าง การเล่นทำให้เกิดกระบวนการคิด ซึ่งเด็กจะมีกระบวนการคิดจาก

  • “เออ” คือการรับรู้ ซึ่งเกิดความตระหนัก
  • “เอ” คือเกิดความอยากรู้ เริ่มสำรวจ หยิบมาดู มาดม อยากรู้ว่ามันมีอะไร ทำได้อย่างไร
  • “เอ๊ะ” คือเริ่มสงสัย ว่าแบบนี้มันใช่หรือไม่ใช่
  • “อ๋อ” คือรู้ว่าทำอย่างนี้เอง ซึ่งนำมาสู่จินตนาการ แล้วจึงเกิดปัญญา

ในการเล่นของเด็ก พ่อแม่และครูต้องเตรียมความพร้อมให้เขาเล่นและเปิดโอกาสให้เขาได้ค้นพบด้วยตนเอง เด็กทุกคนอยากรู้อยากเห็น การปิดบางส่วนจะทำให้เด็กอยากรู้ ยั่วให้คิด ให้วิเคราะห์ อยากเห็น อยากรู้ อยากทำ อยากเล่า เช่น พอขึ้นรถเด็กอยากจะคุยกับพ่อแม่ เด็กบางคนไม่กล้าพูดเพราะไม่แน่ใจว่าถ้าพูดไปแล้วใครจะว่าอะไรเขาหรือเปล่า หรือการไม่กล้าถามเพราะกลัวคนอื่นว่าว่าไม่รู้ เป็นต้น

เคยสังเกตไหมว่า เด็ก ๆ ชอบเหลือเกินกับคำถามว่า “ทำไม” เช่น เด็กถามว่า “ทำไมบ้านต้องมีหลังคา” ที่จริงเด็กมักจะมีคำตอบของคำถามอยู่แล้ว แต่ก็จะถามทำไมตลอด ถ้าเราตอบไม่ได้ ให้ลองถามกลับไป บางทีจะพบคำตอบที่มีอยู่แล้วของเด็กก็ได้ แต่ผู้ใหญ่ส่วนมากชอบบอกให้เด็กไปห่าง ๆ ซึ่งไม่ควรพูดอย่างยิ่ง

อย่างไรก็ตาม ในตอนท้ายนี้ก็มีข้อเตือนใจที่อยากจะฝากไว้กับผู้ปกครอง คือ การใช้ภาษากับเด็ก ซึ่งภาษาที่ควรระวัง เช่น

  1. พ่อไม่ว่างพ่อไม่สะดวก
  2. แม่ต้องรีบไป
  3. อย่ากวนใจ
  4. นี่ไม่มีอะไรทำหรือมานั่งถามอยู่ได้
  5. ขอแม่นั่งทำงานก่อน

อยากให้พ่อแม่ตระหนักคิดไว้ว่าคำพูดเหล่านี้เป็นดาบแทงใจ พอโตขึ้นเมื่อเราจะคุยด้วย เด็กก็จะพูดแบบนี้กับเรา เด็กจะเป็นอย่างที่เราต้องการได้อยู่ที่การปฏิบัติของพ่อและแม่ เพราะจริง ๆ แล้ว สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับเด็กเล็กและเป็นสิ่งที่เด็กต้องการ คือ ทักษะเพื่อการดำรงอยู่ เราต้องสอนให้เด็กอยู่ให้ถูก อยู่ให้ได้ และอยู่ให้เป็น

“ถ้า (เด็ก) อยู่ท่ามกลางความรัก เขาจะเติบโตอย่างคนที่มีความรัก แต่ถ้าเติบโตท่ามกลางการแกล้ง ความโกรธ การพูดไม่เพราะ แล้วเขาจะเอาความรักไปให้ใคร บ้านก็สร้างส่วนหนึ่ง โรงเรียนก็สร้างอีกส่วนหนึ่ง”

บทความจาก : ผศ. กิติยวดี บุญซื่อ (อดีตหัวหน้าภาควิชาประถมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)

Scroll to Top