“ศิลปะ” จะเป็นสื่อสำคัญในการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ โดยจะเป็นตัวช่วยให้นักเรียนได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับวัตถุชิ้นนั้น ทั้งทางปัญญา ทางความรู้สึกและความมุ่งมั่น
การสอนศิลปะ
เด็กเล็ก อาจยังไม่สามารถสื่อสารผ่านภาพได้อย่างชัดเจน งานศิลปะของเด็กเป็นไปเพื่อสะท้อนตัวตนของเขาเท่านั้น ครูจึงไม่ควรตัดสินภาพของเด็กว่าถูกหรือผิดหลักความจริง การคอยแก้ภาพของเด็กว่าไม่ถูกต้องเป็นการทำลายตัวตนของเด็ก
วิธีการ คือ การช่วยกันมองภาพของกันและกัน การที่คนอื่นเห็นคุณค่าของภาพในมุมที่เราไม่เห็นจะนำไปสู่การแตกหน่อทางความคิดได้ และเป็นรากฐานของการรู้จักพลังความคิดร่วมกัน
** เคล็ดลับการสอนเด็กที่ไม่กล้าวาด **
- เปลี่ยนอุปกรณ์วาดด้วยพู่กันแทนการใช้ดินสอ เพราะดินสอจะเป็นการโยงไปสู่การเขียนอักษร
- ให้นักเรียนลองเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น กระแอมดังๆ แล้วลองทำใหม่
- ถ้าเด็กบอกว่าทำไมสิ่งที่ออกมาไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ให้ครูเพิ่มวัสดุที่ใช้ เช่น สี หรือ ดิน แล้วถามว่าดีขึ้นไหม เพื่อสร้างแรงกระตุ้น ให้เด็กแก้ปัญหาจนได้คำตอบสำหรับตนเอง
การสอนดนตรี
- เน้นให้เด็กเข้าใจอัตราของเสียง ความหมายเร็ว ช้า เสียงที่เน้นและไม่เน้น การเรียนรู้จังหวะจากร่างกายของตนเป็นพื้นฐาน สร้างเสียงที่แตกต่างจากร่างกายของตนเอง เน้นรู้จังหวะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวร่างกายของตนเอง
- ในระหว่างการทำกิจกรรม ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อจุดความคิดสร้างสรรค์แก่เด็ก เช่น ร่างกายส่วนใดที่เหยียดได้บ้าง ส่วนใดโค้งงอได้บ้าง คำถามเหล่านี้ทำให้เด็กต้องสำรวจขยับเขยื้อนร่างกาย
- ผสมผสานเนื้อหาทุกด้านไปพร้อมกับดนตรีและนาฏศิลป์ เช่น การสอนการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เรื่องการเดิน ครูต้องวางจุดหมายและจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกันไว้หลายๆ อย่าง ฝึกจินตนาการด้วยบทบาทสมมติ ปลูกความเข้าใจทางทฤษฎีด้วยการฝึกเดินตามจังหวะสอง สาม ฝึกหลายทักษะรวมกัน โดยขณะเดินก็ฝึกทักษะด้านอื่นไปด้วย เช่น การเปล่งเสียง ทั้งมีความหมายและไม่มีความหมาย ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกในช่วงเวลานั้น
- สอนเชื่อมโยงกับวิชาอื่น แม้ว่าวิชาต่างๆ จะถูกแยกสอนแต่ไม่ควรให้วิชาใดมีความสำคัญมากหรือน้อยกว่าวิชาอื่นต่างต้องเสริมกันและกัน และผลัดกันเป็นแกนกลางได้ แล้วแต่ว่าระยะใด ช่วงใดจะเน้นหนักเรื่องอะไร เช่น ในระยะหนึ่งอาจเน้นในเรื่องการอ่าน ครูควรโยงการฝึกจังหวะซึ่งเป็นเรื่องของดนตรี เข้ามาเสริมทักษะการอ่าน ในทำนองเดียวกันบางช่วงเราต้องฝึกทักษะทางดนตรี ครูอาจใช้คำกลอน หรือร้อยแก้วเป็นเครื่องมือ
“ดนตรี” เป็นวิชาที่ฝึกฝนให้มีทักษะได้ทุกคนแม้จะไม่ได้เท่าเทียมกันหมด เป้าหมายของการเรียนดนตรี คือ
- เพื่อความเบิกบานใจ
- เพื่อพัฒนาสุขภาพจิต
- เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจศิลปะอันอำไพ และเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต
- “ดนตรี” จึงเสมือนเป็นวิชาพื้นฐานเสมอกับการอ่านออก เขียนได้ และเลข ควรฝึกทักษะอันเป็นพื้นฐานที่มุ่งสร้างเสริมลักษณะอันพึงประสงค์ เช่น ความรู้สึก ประณีต ละเอียดอ่อน ความเยือกเย็น อ่อนโยน และความคิดสร้างสรรค์