สังคมในประเทศของเรานั้น ประกอบไปด้วยความแตกต่างหลากหลายมากมายไปหมด แม้จะไม่ใช่เรื่องของการเหยียดสีผิวที่ชัดเจนเท่าในต่างประเทศ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า Diversity ความแตกต่างเป็นส่วนประกอบสำคัญในทุก ๆ สังคม การสอนเด็กๆ ให้เข้าใจความแตกต่างหลากหลายในสังคม จึงไม่ได้เป็นเรื่องไกลตัว การสอนเด็กให้ยอมรับความแตกต่าง ไม่ละเมิดสิทธิ์ของผู้อื่นที่ต่างจากตน จะช่วยให้เด็กๆ เติบโตเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของโลกใบนี้ มีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองต่อไปอย่างไม่สิ้นสุดในโลกแห่งอนาคต เพราะเมื่อเข้าใจและยอมรับความแตกต่างหลากหลาย ก็เท่ากับว่าเด็กๆ จะได้เปิดใจต่อทุกความเป็นไปได้ในโลก ทำให้กรอบการเรียนรู้ของเด็กๆกว้างไกลและไร้ขีดจำกัด
5 วิธีต่อไปนี้ สามารถนำมาสอนเด็กๆให้เข้าใจเรื่องความแตกต่างหลากหลายบนโลกใบนี้ได้
1.ไม่เหมือน ไม่ได้แปลว่า ผิด
เมื่อเด็กๆ เริ่มเข้าสู่วัยประถม พวกเขาจะเริ่มสังเกตเห็นความแตกต่างหลากหลายของผู้คน เช่น คนหนึ่งๆ ผิวคล้ำกว่าคนอื่นๆ คนบางคนผมสีทอง บางคนตัวใหญ่ บางคนก็ตัวเล็กนิดเดียว เมื่อเริ่มโตขึ้น เด็กๆ อาจสนใจเกี่ยวกับความแตกต่างทางความเชื่อและเพศวิถี หากเด็กๆ มีคำถามเกี่ยวกับสิ่งที่เขาเห็น ควรอธิบายให้เข้าใจว่า การที่บางคนไม่เหมือนคนส่วนใหญ่ พวกเขาแค่ “แตกต่าง” แต่ความแตกต่างนั้น ไม่ได้เป็นสิ่งผิด ทุกคนเกิดมาแตกต่างกันเขาอาจไม่เหมือนเรา และเราก็ต่างจากเขา ทุกคนสามารถเลือกที่จะเชื่อและใช้ชีวิตอย่างที่ตนเองต้องการได้ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิซึ่งกันและกัน คนที่มีความเชื่อต่างกัน ก็พูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้ด้วยเหตุผล เพื่อแลกเปลี่ยนสิ่งที่ต่างฝ่ายต่างไม่รู้ แต่ไม่จำเป็นต้องบังคับให้อีกฝ่ายคิดเหมือนเรา และในความแตกต่างนั้น ทุกคนควรได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกันด้วย
2.ความต่าง คือ ความงามของโลก
เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้พบเจอผู้คนที่หลากหลาย ไม่ว่าจะด้วยการเดินทาง อ่านหนังสือ ดูสารคดี หรือภาพยนตร์ ให้พวกเขาได้เห็นว่าในแต่ละมุมของโลก หน้าตา ลักษณะนิสัย รวมทั้งวิถีการใช้ชีวิตของคนล้วนแตกต่างกัน หรือแม้กระทั่งคนที่มาจากต่างครอบครัว ก็มีความเชื่อและรูปแบบการใช้ชีวิตที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้โลกของเราน่าสนใจ ลองตั้งคำถามให้เด็กๆ ตอบว่า หากว่าในโลกนี้ไม่มีความต่าง จะเป็นอย่างไร ทุกคนรูปร่างหน้าตาและวิธีคิดเหมือนกันหมด วิทยาการใหม่ๆ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร และการเดินทางท่องเที่ยวจะยังจำเป็นอยู่หรือ ในเมื่อผู้คนทั่วทั้งโลกเหมือนกันไปหมด ชี้ให้เด็กๆ เห็นว่า เมื่อเราไปเที่ยว ได้เห็นวิถีชีวิตของผู้คนที่แตกต่าง บางครั้งก็ทำให้เราประหลาดใจ ทึ่งในวิวัฒนาการความรู้ของพวกเขา แล้วเรายังนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดเป็นความรู้ใหม่ๆ ที่มีประโยชน์ต่อโลกได้อีก นี่แหละคือความงดงามของความแตกต่าง
3.มองให้ลึก เพื่อสร้างความเข้าใจ
เมื่อเด็กๆ รับรู้ว่าโลกนี้เต็มไปด้วยความหลากหลาย กระทั่งคนในประเทศเดียวกัน แต่อยู่คนละภูมิภาค อยู่คนละจังหวัด หรือเพื่อนๆ ในห้องเรียนเดียวกันที่มาจากต่างครอบครัว ก็ล้วนแต่แตกต่างกัน ดังนั้น ความเชื่อ การกระทำ ไปจนถึงลักษณะนิสัย ของแต่ละคนจึงไม่เหมือนกัน บางความเชื่ออาจต่างจากเรา บางการกระทำเราอาจไม่คุ้นเคย แต่ตราบใดที่ยังไม่ได้ละเมิดกฎหมายหรือสิทธิส่วนบุคคล สิ่งนั้นย่อมไม่ผิด พ่อแม่ผู้ปกครอง ควรชวนให้ลูกตั้งคำถาม และคิดให้ลึกซึ้งก่อนที่จะด่วนตัดสินคนๆ หนึ่ง เพียงแค่เขามีบางอย่างไม่เหมือนเรา เพราะเด็กๆ ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่หลากหลายนี้ จำเป็นต้องเรียนรู้ และฝึกที่จะอยู่กับความแตกต่างเหล่านี้ให้ได้
4.เคารพความแตกต่างระหว่างบุคคล
สิ่งนี้ต้องเริ่มจากครอบครัวค่ะ เช่น หากเด็กๆ มีความชื่นชอบศิลปินบางกลุ่ม ผู้ใหญ่อย่างเราๆ ก็ไม่ควรด่วนตัดสินหรือใช้คำพูดวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบ เช่น ร้องเพลงไม่เพราะเลย หรือ ชอบไปได้ยังไงไม่เห็นเก่ง ฯลฯ บางครั้งสิ่งเหล่านี้อาจมาในรูปแบบของการล้อเล่น หรือแซว แต่ขณะเดียวกัน ความคิดเห็นลักษณะนี้ก็เป็นการใช้คำพูดเป็นนัยว่า คุณไม่เคารพความชอบของเด็กๆ ที่แตกต่างจากคุณ ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า ทุกคนมีสิทธิที่จะชื่นชอบ มีความคิด และมีไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตอย่างไรก็ได้ ตราบเท่าที่ไม่ก้าวก่ายกัน ผู้ใหญ่ควรให้ความเคารพตัวตนของเด็กๆ โดยเฉพาะวัยรุ่น เมื่อเด็กๆ ได้รับการยอมรับ พวกเขาก็จะเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่างของคนอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
5.อดทนต่อความแตกต่าง
เราไม่อาจบังคับความคิดของใครได้ กระทั่งพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็ไม่อาจบังคับความคิดของลูกๆ ได้จริงไหมคะ เพราะทุกคนล้วนมีความคิด ความเชื่อ ที่แตกต่างกันไปไม่มากก็น้อย การอดทนต่อความแตกต่างจึงเป็นอีกหนึ่งทักษะที่เด็กๆ ต้องเข้าใจในโลกที่เต็มไปด้วยความหลากหลายนี้
ในภาษาอังกฤษมีคำว่า Tolerance ซึ่งหมายถึงความอดทนอดกลั้น เช่นอดทนต่อความเชื่อหรือการกระทำของคนอื่นๆ ที่ไม่เหมือนเรา เป็นความอดทนที่ต้องอาศัยทักษะความคิดแบบยืดหยุ่น ที่จะต้องเริ่มจากการมี Growth Mindset ซึ่งการอดทนแบบ Tolerance นี้ เป็นทักษะที่จะช่วยให้เด็กๆ อยู่กับความแตกต่างได้ แม้ว่าความต่างของคนอื่นๆ อาจไม่ถูกใจเรา ไม่ตรงกับความเชื่อหรือความคิดของเรา แต่เราก็ต้อง Tolerance กับสิ่งนั้น ในทางกลับกัน คนอื่นๆ ที่ไม่อาจถูกใจความคิดของเรา พวกเขาก็ต้อง Tolerance เราเช่นกัน หากทุกคนต่างมีความอดทนอดกลั้นนี้ ก็จะอยู่ร่วมสังคมกันได้อย่างสงบ
สุดท้ายแล้ว Diversity หรือความแตกต่าง จะคงอยู่คู่สังคมไปทุกยุคทุกสมัย ไม่ว่าเทคโนโลยีต่างๆ จะล้ำหน้าไปเพียงใด ก็คงไม่อาจเปลี่ยนความจริงข้อนี้ได้ นอกเสียจากว่า เราทุกคนกลายเป็น AI หรือหุ่นยนตร์อัจฉริยะที่ถูกวางโปรแกรมเหมือนๆ กันไปหมด เมื่อนั้นความแตกต่างอาจจะหมดไป พร้อมๆ กับความงดงามของโลกใบนี้ที่จะเลือนหายไปเช่นกัน
อ้างอิง: https://www.starfishmaker.org , Starfish Academy,บทบาทครู, บทบาทผู้ปกครอง, ทักษะในศตวรรษที่21
ขอบคุณภาพจาก: pixabay