Key Point ของการศึกษาไทย ที่คุณครูและนักเรียนในโลกยุคใหม่ ควรให้ความสำคัญ คือ “จิตวิญาณแห่งความอยากรู้” (Inquisitive Mindset) ระบบการศึกษาไทย เดิมเน้นแต่คำว่า “ความรู้” ที่ตอนนี้ความรู้มากมายมีอยู่บนอินเทอร์เน็ต กดทีสองทีเราก็รู้แล้ว แต่ที่ไม่ค่อยมีใครให้ความสำคัญ และไม่ได้พูดถึงก็คือ ทำอย่างไรผู้เรียนถึงจะมี Inquisitive Mindset ซึ่งเป็นคำที่คุณครูควรตระหนักอยู่เสมอว่า “ทำอย่างไรเด็กๆจึงจะมีจิตใจใคร่ใฝ่รู้”
ยกตัวอย่าง การทดลองวิทยาศาสตร์ง่ายๆสักเรื่องหนึ่ง แทนที่คุณครูจะบอกว่า การทดลองเรื่องนี้สรุปแล้วมี 7 ขั้นตอน แค่นั้นคงไม่พอ แต่คุณครูต้องกระตุ้นให้เด็กๆบอกให้ได้ว่า 7 ขั้นตอนนี้จะนำไปใช้อย่างไร หรือจะตัดสินใจเลือก 7 ขั้นตอนนี้ มีความท้าทายอะไรอยู่มี Ecosystem อะไรที่เราจำเป็นที่จะต้องพิจารณา ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายและสำคัญกว่ามัวแต่มานั่งบอกว่าผลสรุปว่าคืออะไร
ซึ่งนั่นก็เป็นจุดประสงค์หลักของกระบวนการเรียนรู้ ที่ควรจะออกแบบเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความซาบซึ้ง ประทับใจในโลกที่แสนมหัศจรรย์ใบนี้ รู้จักมองมันและพัฒนาความใฝ่รู้ใฝ่เรียน อยากรู้อยากเห็น ซึ่งนั่นจะเป็นเสาหลักของวัฒนธรรมด้านการศึกษาที่แท้จริงในโลกยุคใหม่นี้
เด็ก ๆ ที่มีสัญญาณของ Inquisitive Mindset ส่วนใหญ่ จะเป็นเด็กเจ้าปัญญา ขี้สงสัย ไม่ค่อยยอมรับความเชื่อ หรือความคิดของคนอื่นได้ง่าย ๆ และเมื่อสงสัยอะไรแล้ว ก็มีความปรารถนาแรงกล้าที่จะค้นคว้าหาคำตอบ หรือแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง
ไอน์สไตน์นั้น เคยให้สัมภาษณ์ว่า ชีวิตของเขาใน 1 ชั่วโมงจะใช้เวลาตั้งคำถามที่ดี 55 นาที อีก 5 นาที เอาไว้ใช้หาคำตอบ ซึ่งตรงกับหลักของวิชาปรัชญาที่เชื่อว่า คำถามที่ดี มีค่ามากกว่าการแสวงหาคำตอบ หลักง่าย ๆ ในการตั้งคำถามที่ดีก็คือ การคิดถึงเรื่องต่าง ๆ ผ่านคำถาม What? Why? How? และคุณครูเองก็สามารถกระตุ้นความกระหายใคร่รู้ให้กับเด็ก ๆ ได้ โดยการชักชวนให้เด็กนักเรียนได้คิดและหาคำตอบไปพร้อม ๆ กัน ท่ามกลางบรรยากาศของการพูดคุยที่เน้นการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่นักเรียน
คำว่า Inquisitive มีความหมายเดียวกันกับ Enquirer ในตัวอักษร E ของคำว่า ACTIVE ที่เป็น Character ของโรงเรียนปลูกปัญญา กล่าวถึง ผู้ที่มีความกระหายใคร่รู้ อันเป็นพลังภายในที่จะขับเคลื่อนผู้เรียนไปสู่ความรู้ต่างๆ ที่พวกเขาสนใจอยู่ในขณะนั้น ส่วนความตื่นเต้นอันเป็นอาการที่จะได้ทำกิจกรรมสนุกๆ นั้นเกิดจากการเร้าของครู…ซึ่งเป็นสิ่งเร้าจากภายนอก
เพราะเด็กจะเรียนรู้ได้ดีต่อเมื่อเขาเกิดความสนใจเบื้องลึกภายใน ที่เป็นแรงส่งให้เกิดการขับเคลื่อนการเรียนรู้ที่แท้จริง อันเป็นบ่อเกิดของพลังภายในตัวเอง ฉะนั้นครูจะต้องสร้างสิ่งนี้ให้เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ก่อนการเรียนรู้ในทุกเรื่อง