“ทักษะทางสังคม” เป็นทักษะสำคัญในการอยู่ร่วมกันในสังคม เป็นกฎกติกา หรือแนวทางในการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้อื่น ทักษะทางสังคมเป็นพฤติกรรมที่แสดงออกผ่านคำพูด สีหน้า ท่าทาง ซึ่งสามารถทำนายผลทางสังคมได้ เช่น เรายิ้ม เพื่อนก็จะยิ้มตอบ ทักษะทางสังคมเป็นทักษะที่จำเป็นในการสร้างและรักษาสัมพันธภาพกับเพื่อน ๆ และคุณครู โดยเฉพาะสำหรับเด็กปฐมวัย
เด็กส่วนมากมักจะเรียนรู้ทักษะทางสังคมผ่านการสังเกตและการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะการเล่นกับเพื่อน แต่ในสังคมปัจจุบัน เด็กอยู่กับการเรียนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นในโรงเรียน หรือสถาบันเรียนพิเศษต่าง ๆ จึงมีโอกาสเล่นกับเพื่อนน้อยลง ประกอบกับโลกดิจิทัลที่เอื้อให้เด็กสามารถหาความบันเทิงผ่านการเล่นเกมออนไลน์หรือเกมคอมพิวเตอร์ ดูการ์ตูนหรือภาพยนตร์ใน YouTube ดังนั้นเด็กจึงมีโอกาสในการเรียนรู้ทักษะทางสังคมตามธรรมชาติได้น้อยลงไปเรื่อยๆ
นั่นคือเหตุผลว่า ทำไมโรงเรียน ในฐานะบ้านหลังที่สองของเด็ก ๆ ควรมุ่งเน้นการออกแบบการเรียนรู้ให้เด็กๆ มีทัศนคติแห่งความ ‘เข้าอกเข้าใจ’ (Empathy) ต่อผู้อื่นนั้น สิ่งหนึ่งที่คุณครูอนุบาลสามารถออกแบบได้ คือการใส่คำถามว่า “ถ้าหนูอยู่ในสถานการณ์นั้น หนูจะรู้สึกยังไงนะ และเราจะทำอย่างไรในสถานการณ์นั้นดี?” คำถามนี้ช่วยให้เด็ก ๆ มีจินตนาการถึงสถานการณ์ของคนอื่น เริ่มใส่คำถามนี้ได้ตั้งแต่การลองคิดแทนเพื่อน หรือชี้ชวนตั้งคำถามถึงความรู้สึกของตัวละครในนิทาน, ในหนังสือที่เด็กๆ จะอ่านกัน, ออกแบบให้เด็ก ๆ ได้ทำกิจกรรมร่วมกันเป็นกลุ่มบ่อย ๆ และผลัดเปลี่ยนให้เด็ก ๆ ได้เวียนเป็นสมาชิกในกลุ่มเพื่อทำงานร่วมกับคนอื่นที่เขาไม่สนิทด้วย หรือจะวิธีอื่น ๆ ก็ได้ทั้งนั้น แล้วแต่ไอเดียสร้างสรรค์ของ ‘นักออกแบบการเรียนรู้’ หรือ คุณครูในห้องเรียนได้เลย
ฟังดูแล้วการให้เด็กจำลองตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์คนอื่นเพื่อ ‘เข้าไปถึงจิตใจ’ ของใครอีกคนนั้น เป็นเรื่องที่แสนจะธรรมดาจนหลายคนไม่เข้าใจว่าเรื่องแค่นี้มันต้อง ‘ฝึก’ กันด้วยหรือ แต่เราในฐานะโรงเรียนกลับมองว่า เรื่องเล็กน้อยแบบนี้ หลายครั้งส่งผลยิ่งใหญ่มหาศาลในแง่การสร้างความไม่เข้าใจระหว่างกัน เรื่องเล็กน้อย เช่น บางครั้งที่คุณโกรธ – คุณต้องการพื้นที่เพื่อคลี่คลายอารมณ์ คุณต้องการให้คู่กรณีถอยไปก่อน, บางครั้งที่คุณเศร้า – คุณต้องการแค่อ้อมกอดอบอุ่นและคำปลอบโยนที่เงียบเชียบ, หรือบางครั้งที่ท้อ – คุณต้องการคำพูดเพื่อให้กำลังใจ ทั้งหมดนี้ต้องการการปฏิบัติอันมาจาก ‘ความเข้าอกเข้าใจ’ ผู้อื่นในรูปแบบที่ต่างกันทั้งสิ้น