คำว่า Kindergarten มีความหมายตรงตัวจากสองคำรวมกัน คือ Kinder คือ เด็ก ส่วน Garten คือสวน ก็หมายถึง “สวนที่มีเด็กอยู่” คิดง่ายๆได้ว่า เด็ก ๆ อยู่ในธรรมชาติ แต่พอเป็น “โรงเรียนอนุบาล” จะให้ความรู้สึกเหมือนคำว่า “Pre-school” เป็นสถานที่ที่เน้นการเร่งเรียนเพื่อเตรียมเข้าสู่ระบบ
ถ้าแยกสองคำระหว่าง Kindergarten และ Pre-school ได้อย่างชัดเจน เราจะพบว่า ใครทำบทบาทอะไร – โรงเรียน (school) ทำหน้าที่อะไร และ อนุบาล (kindergarten) ทำหน้าที่อะไร
อนุบาล ในความหมายของ Kindergarten ให้มองถึงสถานที่หนึ่งที่จะเตรียมความพร้อมเด็กเรื่อง “ชีวิตประจำวัน” ให้เด็ก ๆ ได้เต็มที่กับธรรมชาติตามความเป็นเด็กไปเลย แต่ถ้าเป็น pre-school คือ “การเตรียมตัวขึ้นชั้นประถม” การเริ่มต้นเรียนเขียนอ่านน่าจะอยู่สักประมาณปีสุดท้ายก่อนที่จะขึ้นประถม อาจจะไม่ต้องเตรียมนานเพราะว่าอย่างไรเด็กก็ต้องขึ้นประถมแล้วก็เรียนในระบบโรงเรียนอยู่ดี ใช้เวลาหนึ่งปีสำหรับการเตรียมพร้อมน้องที่จะขึ้นสู่ประถมก็เพียงพอแล้ว
เราก็ต้องทำความเข้าใจกันใหม่ว่า เด็กในวัยอนุบาลเขาเรียนรู้ หรือ รับความรู้ต่าง ๆ ในโลกนี้โดยผ่าน “การเลียนแบบ” ภาษาอังกฤษจะเรียกว่า imitation คือการเลียนแบบโดยที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการทางความคิด กล่าวคือ เมื่อเขาเห็นแบบอย่างแบบไหน เขาก็ทำตามเลย เมื่อเขาเห็นแบบจากผู้ใหญ่หรือว่าคนรอบข้าง ในทีนี้ก็คือคุณครูเขาก็จะทำตามทันทีโดยที่ไม่ได้ผ่านขั้นตอนการคิด ซึ่งแน่นอนว่า เราจะไม่ใช้คำว่า “เรียน” กับเด็ก แต่เราจะใช้ “การเป็นแบบอย่างให้เห็น” เพราะฉะนั้น “การเลียนแบบ” ให้เห็น มันก็จะหนักลงไปในชีวิตประจำวันของผู้ใหญ่ที่อยู่รอบ ๆ ตัวของเด็ก ๆ นั่นเอง
การเรียนรู้ที่อยู่ในห้อง กับ การเรียนรู้ที่อยู่ข้างนอก มีความสำคัญกับมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะเด็กตัวเล็ก ๆ ก็เหมือนไม้อ่อนที่ไม้ใหญ่ก็ต้องทำหน้าที่ดูแล ปกป้อง คุ้มครองเขา เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรให้เขา เพราะฉะนั้นผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบที่ดีให้เด็กเห็น ถ้าเราทำงานบ้าน งานในครัวเรือน งานสวน เป็นแบบที่ดีกับเด็กแล้ว เด็กก็จะเกิดการเลียนแบบ มองเห็นสิ่งดี ๆ แล้วก็ทำตาม การเรียนรู้ของเขาก็จะเป็นไปเอง แต่เราจะไม่ใช้การสอน เด็กจะไม่เข้าใจว่า “อ๋อ… หนูต้องทำแบบนี้หรอ” แต่ทำให้เขาดูไปเลย แล้วเด็กๆจะรู้สึก โอ้โห… มันมหัศจรรย์ มันน่าประทับใจ จนเขาอยากจะทำตามไปเอง พ่อแม่ต้องทำความเข้าใจเสียใหม่ว่า เด็กอนุบาลเป็นวัยที่เขาต้องการเรียนรู้โดยผ่านการกระทำ
ที่มา : อุบลวรรณ ปลื้มจิตร, The Potential, Early childhood and Learning Theory