จัดกระบวนการเรียนการสอน
ที่สอดรับกับการศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21

ในปัจจุบันโลกของเรากำลังอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มาจากศตวรรษก่อนหรือศตวรรษที่ 20 มายังศตวรรษที่ 21 นี้คงไม่ได้เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนตัวเลขจาก 20 มาเป็น 21 เท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีหรือระบบบางอย่างของสังคม ที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของผู้คนอย่างมากมาย ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะผลจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทำให้ยุคนี้เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสารและความรู้มหาศาล ดังนั้นในยุคนี้จึงไม่ต้องการเด็กที่มีความรู้เยอะหรือท่องจำได้มากเพราะข้อมูลหรือความรู้เหล่านั้นมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน จำอย่างไรก็ไม่มีวันหมด อีกทั้งความรู้ที่จดจำได้ในวันนี้อาจเป็นสิ่งที่ไม่ใช่ในวันหน้า แต่ยุคนี้เป็นยุคที่ต้องการเด็กใฝ่รู้ มีทักษะในการแสวงหาความรู้และทักษะการใช้ชีวิต : Life Skills
จากกรอบความคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ที่พัฒนาขึ้นโดยภาคีเพื่อทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 (Partnership for 21st Century Skills) จะเห็นได้ว่าโลกในศตวรรษที่ 21 นั้นนอกจากสาระวิชาหลักๆ ที่เด็กๆ จะได้รับการสอนแล้ว เด็กๆ ควรต้องเรียนรู้แนวคิดอื่นๆ ที่สำคัญ ซึ่งประกอบไปด้วยจิตสำนึกต่อโลก ความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ และการเป็นผู้ประกอบการ ความรู้พื้นฐานด้านพลเมือง ความรู้พื้นฐานด้านสุขภาพ และความรู้พื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยการเรียนรู้ทักษะที่สำคัญอีก 3 ด้าน ได้แก่ ทักษะการเรียนรู้และนวตกรร ทักษะด้านสารสนเทศ สื่อและเทคโนโลยี และทักษะชีวิตและการทำงาน

การศึกษาต้องให้ความสำคัญกับ

“กระบวนการเรียนรู้” มากกว่า “ความรู้”

และครูต้องไม่ใช่ผู้มอบความรู้

แต่ต้องเป็นผู้ออกแบบความรู้ไปพร้อมๆ กับเด็กๆ

นายแพทย์ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ เลขาธิการมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ ได้ชี้ให้เห็นว่าการปฏิรูปการศึกษาที่แท้จริงนั้นควรเป็นการปฏิรูปกระบวนทัศน์ ซึ่งกระบวนทัศน์แบบใหม่นี้ ต้องให้ความสำคัญกับ “กระบวนการเรียนรู้” มากกว่า “ความรู้” และครูต้องไม่ใช่ผู้มอบความรู้ แต่ต้องเป็นผู้ออกแบบการบวนการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กับเด็ก ซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้เป็นแนวคิดที่โรงเรียนปลูฏปัญญายึดถือมาโดยตลอดตั้งแต่เริ่มก่อตั้งโรงเรียน และนำมาเป็นพื้นฐานในการออกแบบการจัดการเรียนการสอนในโรงเรียนให้สอดคล้องกับแนวทางดังกล่าว

____________________

 

 

กระบวนการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนปลูกปัญญา

 โรงเรียนปลูกปัญญาจัดให้มีกิจกรรมกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายทั้งในและนอกห้องเรียน คุณครูและนักเรียนมีส่วนในการเรียนรู้ร่วมกัน

ทำให้สามารถพัฒนาการเรียนรู้ได้อย่างต่อเนื่อง 

เราเชื่อมั่นว่า ไม่เพียงคุณครูเท่านั้นที่เป็นผู้ให้ความรู้ แต่ทุกคนในองค์กรสามารถเป็นคุณครูที่สร้างแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับนักเรียนได้ ทั้งผู้ปกครองที่มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ แม่บ้าน แม่ครัว คนสวนก็สามารถให้คำแนะนำในหน้างานที่ตนเองถนัดซึ่งนับเป็นการสอนวิถีในการใช้ชีวิต เช่น สอนการทำความสะอาด

สอนการทำอาหารที่คำนึงถึงสุขภาพของผู้บริโภค รวมถึงสอนการคัดแยกขยะ เพื่อให้นึกถึงคุณค่าสูงสุดของการใช้ทรัพยากรอย่างประหยัด

ซึ่งโรงเรียนปลูกปัญญาได้จัดการเรียนการสอนที่บูรณาการเรื่องต่างๆ เหล่านี้ เข้าไปกับการเรียนในห้องเรียนได้อย่างเหมาะสม

เพื่อสร้างให้เป็นวิถีของปลูกปัญญาอย่างแท้จริง

วิถีของปลูกปัญญาไม่เพียงให้ความรู้นักเรียนเท่านั้น แต่เราให้ปัญญา นั่นคือกระบวนการคิดและวิธีคิดที่จะช่วยให้นักเรียนนำไปต่อต่อยอดองค์ความรู้ของตนเอง

และเป็นผู้ใฝ่รู้ ใฝ่เรียนต่อไปในอนาคต

กระบวนการการจัดการเรียนการสอน

ของโรงเรียนปลูกปัญญา แบ่งตามระดับชั้น

(คลิกที่รูปภาพเพื่ออ่านข้อมูลเพิ่มเติม)

ความเป็น “ปลูกปัญญา”

“ปลูกปัญญา” คือ การบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์แห่งปัญญา ให้เติบโต งอกงาม เริ่มจากการดูแลเอาใจใส่ เตรียมความพร้อมให้กับเมล็ดพันธุ์ปฐมวัย ฝึกฝนทักษะชีวิต เน้นกระบวนการเรียนการสอนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับวัย เตรียมพร้อมร่างกาย อารมณ์ สังคม ให้เด็กปฐมวัยมีความอยากอ่านก่อนที่จะอ่านได้ และมีความอยากเขียนก่อนที่จะเขียนได้

 

เมื่อขึ้นมาสู่ระดับชั้นประถมศึกษา จะเป็นขั้นตอนของการใส่ปุ๋ย พรวนดิน ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย ฝึกฝนการวางแผน เรียนรู้กระบวนการคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ฝึกฝนการค้นคว้าหาความรู้ และเรียนรู้ที่จะทำงานเป็นทีม กลายเป็น “ต้นกล้าแห่งความใฝ่รู้”

 

ในระดับชั้นมัธยมศึกษา จะเป็นขั้นตอนที่ต้นกล้าเติบโต จากการบ่มเพาะ ใส่ปุ๋ยและพรวนดิน ซึ่งต้นกล้ายังคงได้รับกระบวนการการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง แต่มีความเฉพาะเจาะจง ท้าทายความสามารถ กระตุ้นให้เกิดการค้นพบศักยภาพและความถนัดของตนเอง ท้ายที่สุดต้นกล้าจะเติบโต เดินไปในเส้นทางที่ตนเองถนัดและมีความสุข ก้าวทันและปรับตัวเข้ากับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างดี