เรื่องราวของเรา

 

โรงเรียนปลูกปัญญา ก่อตั้งขึ้นในปีพุทธศักราช 2549 เริ่มต้นที่แนวคิดในการทำโรงเรียนจากแรงบันดาลใจของผู้ก่อตั้ง ที่มุ่งหวังให้สถานที่แห่งนี้เป็นแหล่งบ่มเพาะปัญญาของลูกหลานชาวโคราชให้มีจิตใจที่สมบูรณ์ มีปัญญาคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน และเป็นเด็กที่มีความสุข ผ่านการเรียนที่เน้นกระบวนการเรียนรู้ไปสู่การค้นพบศักยภาพภายในตนเอง

มุมมองผู้ก่อตั้งโรงเรียนปลูกปัญญา

คุณทศพล-คุณวรีพร ตันติวงษ์

ประธานบริหารโรงเรียนปลูกปัญญา

“ผมคิดว่าถ้าทำโรงเรียน

ต้องทำให้ดีที่สุด

ให้เด็กๆ เรียนอย่างมีความสุข

ไม่เครียด รู้จักช่วยเหลือตนเอง

และอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี”

_________

ผมมีความโชคดีที่ได้ลูกดี ลูกๆ ส่วนใหญ่ของผมเต็มใจที่จะฝึกงานกับผม ซึ่งผมก็ได้ให้ข้อคิดที่ทุกคนเต็มใจรับและปฏิบัติตาม เราเป็นธุรกิจครอบครัว (บริษัท สงวนวงษ์อุตสาหกรรม จำกัด) ผมและลูกๆ ก็คือลูกจ้างของบริษัท  กินเงินเดือนเหมือนพนักงาน พนักงานในบริษัทผมก็คิดว่าเป็นส่วนหนึ่งเหมือนคนในครอบครัว ผมดูแลพนักงานให้เขามีความเป็นอยู่ที่ดี ให้สวัสดิการที่ดี ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อให้พนักงานทำงานอย่างมีความสุข

เมื่ออายุที่เพิ่มขึ้นและผมเห็นว่าลูกๆ เขาทำกันเองได้และทำได้ดี ธุรกิจเราแข็งแรงและมั่นคงขึ้น ผมจึงค่อยๆ วางมือ แต่ลูกๆ ก็ยังอยากให้เราเป็นที่ปรึกษาให้กับเขาอยู่ทุกๆ เรื่อง ตอนนี้หลานๆ ก็เริ่มโตขึ้น ลูกเขาอยากให้เด็กๆ ได้เรียนโรงเรียนดีๆ อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี จึงคิดอยากจะทำโรงเรียนกัน ลูกสาวคนโต (ธิดารัตน์ รอดอนันต์) ลูกสาวคนเล็ก (โชติมา ลีอังกูร) และลูกเขยคนเล็ก (อัชฌา ลีอังกูร) ที่มีความพร้อมตรงจุดนี้ ก็เลยเข้ามาขอคำปรึกษา

ผมเองคิดว่าการทำโรงเรียนไม่ใช่แค่สถานที่ให้เด็กเข้ามานั่งเรียนหนังสือ ถึงเวลาเย็นก็กลับบ้าน แต่หมายถึงเราต้องดูแลเด็กคนนึงที่เขากำลังจะเติบโตเป็นดวงใจและเป็นความหวังของคนเป็นพ่อเป็นแม่ ผมจึงคิดว่าถ้าทำต้องทำให้ดีที่สุด ให้เด็กๆ เรียนอย่างมีความสุข ไม่เครียด เด็กๆ ได้รู้จักการช่วยเหลือตนเอง และได้ความรู้ได้ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์กับเขา

โรงเรียนเป็นสิ่งใหม่ที่เรายังไม่เคยมีประสบการณ์ โชคดีที่เราได้ผู้รู้หลายท่านให้คำแนะนำ รวมทั้งท่านอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ผู้มีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญเรื่องเด็กปฐมวัย มาอยู่กับโรงเรียนและเป็นที่ปรึกษาให้ระยะหนึ่ง จนวันนี้เราพูดได้ว่าเราก็เป็นโรงเรียนที่ดีแห่งหนึ่งในโคราช เราได้เห็นความสุข และพัฒนาการที่ดีของเด็กๆ ต้องขอบคุณท่านผู้ปกครองทุกท่านที่ให้ความน่าเชื่อถือ และไว้วางใจส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ บางบ้านมากันทั้งครอบครัว ความจริงเราตั้งใจจะเปิดถึงระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ผู้ปกครองหลายๆ ท่าน อยากให้ลูกได้เรียนอยู่ในโรงเรียนเดียวกันจนจบ อยากให้เราช่วยส่งเด็กๆ ให้แข็งแรงไปอีกขั้น

“ปลูกปัญญา” นั้นต้องค่อยๆ ปลูก

ค่อยเป็นค่อยไป

จะให้รวดเร็วปรู๊ดปร๊าดไม่ได้

เพราะเด็กแต่ละคนมีความแตกต่างกัน

วิธีการปลูกก็ต้องแตกต่างกันด้วย

———

“โรงเรียนแนวเตรียมความพร้อม”

หากไร้ทุนทรัพย์ การสร้างโรงเรียนในลักษณะนี้เป็นไปได้ยากมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำให้โรงเรียนยิ่งมีคุณภาพ ยิ่งต้องลงทุนสูง เพราะฉะนั้นการวัดความสำเร็จของโรงเรียนแห่งนี้จึงไม่ได้วัดที่ “รายได้” หรือ “กำไร” แต่ต้องวัดที่คุณภาพของเด็กทั้งที่เรียนอยู่และที่จบการศึกษาจากโรงเรียน

ตอนจะตั้งโรงเรียน ผมไปคุยกับเพื่อนๆ ในรุ่นใกล้ๆ กันซึ่งตอนนั้นพวกเขาก็มีลูกๆ กันหมด ก็หาข้อมูล มานั่งคุยกัน พยายามหาโรงเรียน ที่เรียกว่า “แนวเตรียมความพร้อม” ซึ่งในพื้นที่ตอนนั้นไม่ค่อยมีโรงเรียนลักษณะนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนแนววิชาการทั้งหมด เลยอยากลองทำดู ก็ไปหาอาจารย์ที่ปรึกษาหลายท่าน โดยเฉพาะท่านอาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา, อาจารย์กิติยวดี บุญซื่อ และท่านอาจารย์ยงยุทธ จรรยารักษ์ ไปดูงานตามโรงเรียนต่างๆ ทั้งในกรุงเทพฯ บ้าง ต่างประเทศบ้าง คือ โชคดีที่ “สงวนวงษ์อุตสาหกรรม” เรามีลูกค้าอยู่หลายประเทศ ก็ขอไปดูงาน รู้สึกว่าหลายที่ดีมาก เป็นแนวคิดเตรียมความพร้อมเด็ก คือ เตรียมเขาให้พร้อม เมื่อพร้อมแล้วเขาจะไปทำอะไรก็ทำได้ เหมือนแนวต่างประเทศ เวลาสอนเขาจะสอนเน้นเครื่องมือ คือ สอนคณิตศาสตร์ สอนภาษา เพื่อเป็นเครื่องมือในการเรียนหนังสือต่อ จบแล้วอยากเรียนอะไรก็ใช้เครื่องมือเหล่านี้ไปเรียนต่อได้ ซึ่งเราก็มองว่าแนวนี้น่าสนใจ แล้วก็มาดูในเมืองไทย เช่น โรงเรียนรุ่งอรุณ โรงเรียนเพลินพัฒนา โรงเรียนจิตตเมตต์ และโรงเรียนช้างเผือก แล้วเขาก็น่ารักมากช่วยส่งคุณครูมาอบรมให้เรา ส่งอาจารย์มาเป็นที่ปรึกษาจนกระทั่งโรงเรียนเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา

 

คุณอัชฌา ลีอังกูร

ผู้จัดการโรงเรียนปลูกปัญญา

ด้วยนักเรียนมีความแตกต่างเฉพาะในแต่ละบุคคลสูง เราจึงซื้อหลักสูตรมาจากประเทศอังกฤษ ทำ Certified จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อมาช่วยประกอบให้ผู้ปกครองได้เห็นที่มาที่ไปของหลักสูตร เพราะที่นี่เราเน้น Theme Base ในระดับอนุบาลจนถึงมัธยมต้น และในช่วงมัธยมปลายการเรียนจะเป็นในลักษณะ Subject Base มากขึ้น เพื่อเน้นความเฉพาะของแต่ละบุคคล เราเรียนรู้ในลักษณะของบูรณาการ เพราะโลกแห่งความจริงการแก้ไขปัญหาใดปัญหาหนึ่งเราต้องมีความรู้แบบองค์รวม และนี่คือ ที่มาที่ไปของหลักสูตรปลูกปัญญา

เราใช้คำว่า “ปลูกปัญญา” เพราะปัญญาของเด็กแต่ละคนแตกต่างกัน เราจึงใช้วิธีสอนที่หลากหลาย โดยได้ประยุกต์เอาทฤษฎีพหุปัญญา (The Theory of Multiple Intelligences) ของศาสตราจารย์โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ นักจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ทฤษฎีที่เชื่อว่ามนุษย์เราเกิดมามีความเฉลียวฉลาด หรือสติปัญญาหลากหลายด้านที่มีความสำคัญเท่าเทียมกัน ซึ่งถ้าเด็กๆ มีความฉลาดติดตัวมาแล้ว หน้าที่เรา ก็คือ สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเรียนรู้ให้เขา แล้วปัญญาของพวกเขาก็จะพัฒนาขึ้นจนกลายเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล

สิ่งที่เราเน้น เราเน้น “กระบวนการ” มากกว่า “ผลลัพธ์” เราทำการศึกษาเราไม่ได้ทำโรงงานอุตสาหกรรม การทำอุตสาหกรรมต้องเป๊ะๆ แต่โรงเรียนเราสอน “คน” ผลลัพธ์ที่ออกมาอาจแตกต่างกันจากวิธีการที่เราให้ไป ซึ่งวิธีเพียงหนึ่งวิธีอาจไม่สามารถใช้ได้กับทุกๆ คน เราต้องปรับให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละคน ดังนั้นวิธีการหรือกระบวนการจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก

มุมมองของที่ปรึกษากิตติมศักดิ์

อาจารย์หม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา

ให้เด็กอยากอ่าน ก่อนอ่านได้

อยากเขียน ก่อนเขียนได้

เขาจะสนุก อยากเรียนรู้

นับเป็นความกรุณาที่โรงเรียนปลูกปัญญา ได้รับ จากท่านอาจารย์หม่อม ดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา ที่ท่านได้สละเวลาอันมีค่าของท่านมาอบรมคุณครูโรงเรียนปลูกปัญญา ท่านได้ให้มุมมอง และความรู้มากมาย ซึ่งอาจารย์หม่อมดุษฎี มีดำริว่า ปัญหาเกี่ยวกับการศึกษาปฐมวัยของไทยเราที่เห็นได้ชัด คือ ครูผู้สอน และผู้ดูแลเด็ก ขาดความรู้ความเข้าใจธรรมชาติในการพัฒนาสมองและทักษะต่างๆ ของเด็ก แทนที่จะทำการเรียนให้เป็นการเล่น การเล่นให้เป็นการเรียน แต่เร่งการอ่านเขียน คัดลายมือ โดยไม่สนใจว่าสอดคล้องกับพัฒนาการร่างกายและจิตใจของเด็กหรือไม่”

พลังแห่งความตั้งใจและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องของครู เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำหลักการปูพื้นฐานการเรียนรู้ผ่านการะบวนการวิทยาศาสตร์ และกระบวนการทางสังคมควบคู่กับการนำดนตรี ศิลปะ ละคร และการเคลื่อนไหว มาผสมผสานเข้าด้วยกันอย่างเหมาะสม และลงตัว เพื่อการพัฒนาเด็กในแต่ละช่วงวัยอย่างได้ผล

ส่งเสริมให้เด็กมีกระบวนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และกระบวนการเรียนรู้ทางสังคม ในขณะที่การเรียนรู้ของเด็กดำเนินไปนั้นจะเกิดกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ขึ้นโดยอัติโนมัติ จึงควรส่งเสริมกระบวนการเหล่านี้ เพื่อช่วยเน้นให้เด็กรู้จักจดจำ จัดลำดับความสำคัญของการเรียนรู้ เรียบเรียงตามขั้นตอน รู้จักเชื่อมโยงประสบการณ์เก่าผนวกกับประสบการณ์ใหม่ ให้เหตุผล หาสาเหตุหรือที่มาของเหตุการณ์นั้นๆ และสร้างเงื่อนไขใหม่ อันนำไปสู่ทักษะการคิดและปรับปรุงและเปลี่ยนแปลงในตัวเด็กเอง

ผศ. ยงยุทธ จรรยารักษ์

ผศ. ยงยุทธ จรรยารักษ์

อดีตอาจารย์ภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ปรึกษาโรงเรียนปลูกปัญญา)

—————–

“บันทึกเวทีเสวนา”

“เปิดบ้านปลูกปัญญา ครั้งที่ 1”

ปัจจุบันผู้ปกครองทั้งหลายมักทำหลายสิ่งหลายอย่างเพื่อลูก แต่จริงๆ แล้ว ควรจะคิดต่อไปด้วยว่าลูกของเราจะอยู่ได้อย่างไร สิ่งที่จำเป็นที่สุดสำหรับพ่อแม่ คือ การสร้างภูมิคุ้มกันให้ลูก นั่นคือ สอนให้ลูกรู้เท่าทันกิเลส สอนให้ลูกรู้จักใช้ “ศีล” เป็นตัวกรองก่อนที่จะรับรู้ไปสู่จิตใต้สำนึก เพื่อให้ได้จิตใจที่บริสุทธิ์ แบบนี้จึงทำให้เกิดภูมิคุ้มกันและเป็นคนที่สมบูรณ์ที่สุด

ผศ. กิติยวดี บุญซื่อ

ผศ. กิติยวดี บุญซื่อ

อดีตหัวหน้าภาควิชาประถมศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (ที่ปรึกษาโรงเรียนปลูกปัญญา)

——————–

“โรงเรียนของเด็กเล็ก ควรจะเป็นโรงเรียนที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าเขาจะอยู่ต่อไปในโลกนี้ได้อย่างไร”

หลายครั้งที่พ่อแม่หาโรงเรียนที่ไม่ใช่โรงเรียนที่สอนเก่ง ที่รู้ไปหมด แต่อยากได้โรงเรียนที่สอนให้ลูกทานข้าวเองเป็น สอนให้ช่วยตัวเองได้เกือบทุกอย่าง ซึ่งแบบนี้จะสุขใจมากกว่า

โรงเรียนเด็กเล็ก ควรจะเป็นโรงเรียนที่ทำให้เขาได้เรียนรู้ว่าเขาจะอยู่ต่อในโลกนี้ได้อย่างไร ที่สำคัญ คือ เติบโตเป็นหนุ่มสาวที่สมบูรณ์ อ่อนน้อม อ่อนโยน อดทน อาทร อภัย

บทความที่เกี่ยวข้องของ ผศ.ยงยุทธ จรรยารักษ์

“เลี้ยงลูกอย่างไรให้ฉลาด”

ในงานสัมมนาวันที่ 28 มกราคม 2551

ณ ลานละคร ห้องสมุดโรงเรียนปลูกปัญญา

บรรยากาศในวันนั้นอาจารย์เปิดประเด็นด้วยการถาม กระตุ้นให้ผู้ปกครองคิด “ความทุกข์ของคนรุ่นใหม่คืออะไร” ผู้ปกครองร่วมมือเป็นนักเรียนที่ดีด้วยการตอบคำถามของอาจารย์ “ความอยาก” ผู้ปกครองท่านหนึ่งตอบ  อาจารย์ไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด แต่ก็บอกว่าใกล้เคียงแต่ชี้ให้เราเห็นว่าความอยากทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์เท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่ทำให้เราทุกข์คือเวลาเราทุกคนต่างเป็นทาสของเวลา ถ้าเรามาไม่ทันเวลาก็จะวิ่งตามมันอยู่นั่นจนทำให้เราทุกข์ เพราะฉะนั้นเคล็ดลัยที่จะไม่ทำให้เราทุกข์ คือเราต้องเป็นผู้คุมเวลา มาก่อนเวลาเราถึงจะรู้ว่าเราใช้เวลาอย่างไร ผู้ปกครองต่างฉงนสนเท่ห์ไปตามกั้นกับคำถามง่ายๆ ของอาจารย์แต่คำตอบยากยิ่ง แล้วอาจารย์ก็ยิงคำถามที่ 2 ตามมาติดๆ

“ครูคือใคร” อาจารย์ใช้วิธีเดิมก่อนจะสรุปให้เราฟังว่า

“ครูคือคนที่สร้างอนาคตของชาติผ่านเด็ก” ครูของเด็กๆมีสามคน คนที่หนึ่ง พ่อแม่ คนที่สองครูที่โรงเรียน ครูที่สามคนแก่

ครูคนที่ 1 พ่อแม่

เป้าหมายในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ คือ การสร้างให้ลูกยืนบนขาของตนเองให้ได้  พ่อแม่ไม่ใช่เจ้าของบงการชีวิตลูก พ่อแม่เป็นแค่คำสอนที่คอยส่งเสริมลูก แต่ผู้เล็งธนูคือลูก เขาไปทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับกรรมของเขา เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพ่อแม่คือให้โอกาสให้เขาได้เลือกในสิ่งที่เขาอยากจะเป็น พ่อแม่มีหน้าที่จัดสรรให้เขามีประสบการณ์ที่หลากหลาย ให้เขาเรียนรู้ด้วยปัญญาของตนเอง ให้เขามีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยตนเอง ความสำเร็จในชีวิตมิได้วัดได้ด้วยชื่อเสียงและเงินทอง แต่วัดด้วยการใช้อย่างมีความสุขกับสิ่งที่เขาทำหรือไม่

เราพ่อแม่ ที่สำคัญคือการพูดภาษาเดียวกันกับลูก  คุยกับลูกให้รู้เรื่อง ให้เข้าใจ มิใช่ให้เขาไปเข้าใจคนอื่นที่มิใช่พ่อแม่ ถ้าอยากให้ลูกเป็นอย่างไร เราก็ต้องฝึกตนเองให้เป็นแบบนั้น ถ้าอยากสอนลูกให้เป็นมาร ก็เลี้ยงลูกด้วยการฝึกบำรุงบำเรอจนสบายจนเคยตัว ถ้าอยากสอนลูกให้เป็นเทพ เราก็ต้องสอนให้เขานึกถึงผู้อื่น