เมื่อทุกคนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ โดยผ่านการเคลื่อนไหวจากจังหวะ เพลง ศิลปะ การทำอาหาร และการเล่นบทบาทสมมติ จึงเกิดกระบวนการทางสังคม เกิดการปฏิสัมพันธ์ทางกาย วาจา ใจ กับบุคคล สรรพสิ่งรอบข้าง หมู่เพื่อน และครูจากการพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดและความรู้สึก สร้างความเข้าใจกันและเรียนรู้ไปด้วยกันอย่างมีความสุข

การใช้ดนตรี การเคลื่อนไหว

นาฏศิลป์ ศิลปะ สอนเด็ก

 

ดนตรีเป็นวิชาที่ฝึกฝนให้มีทักษะได้ทุกคนแม้จะไม่ได้เท่าเทียมกันหมด เป้าหมายของการเรียนดนตรี คือ

1. เพื่อความเบิกบานใจ

2. เพื่อพัฒนาสุขภาพจิต

3. เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจศิลปะอันอำไพ และเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต

ดนตรีจึงเสมือนเป็นวิชาพื้นฐานเสมอกับการอ่านออก เขียนได้ และเลข ควรฝึกทักษะอันเป็นพื้นฐานที่มุ่งสร้างเสริมลักษณะอันพึงประสงค์ เช่น ความรู้สึก ประณีต ละเอียดอ่อน ความเยือกเย็น อ่อนโยน และความคิดสร้างสรรค์

การเรียนรู้จังหวะจากร่างกายของตนเป็นพื้นฐานสำคัญก่อนการเรียนตัวโน้ต

ดนตรี ศิลปะ นาฏศิลป์ การเคลื่อนไหว เป็นการเรียนการสอนที่เชื่อมโยงกัน

 

การสอนดนตรี

1. เน้นให้เด็กเข้าใจอัตราของเสียง ความหมายเร็ว ช้า เสียงที่เน้นและไม่เน้น การเรียนรู้จังหวะจากร่างกายของตนเป็นพื้นฐาน สร้างเสียงที่แตกต่างจากร่างกายของตนเอง เน้นรู้จังหวะสอดคล้องกับการเคลื่อนไหวร่างกายของตนเอง

2. ในระหว่างการทำกิจกรรม ใช้คำถามปลายเปิดเพื่อจุดความคิดสร้างสรรค์แก่เด็ก เช่น ร่างกายส่วนใดที่เหยียดได้บ้าง ส่วนใดโค้งงอได้บ้าง คำถามเหล่านี้ทำให้เด็กต้องสำรวจขยับเขยื้อนร่างกาย

3. ผสมผสานเนื้อหาทุกด้านไปพร้อมกับดนตรีและนาฏศิลป์ เช่น การสอนการเคลื่อนไหวพื้นฐาน เรื่องการเดิน ครูต้องวางจุดหมายและจัดกิจกรรมที่สอดคล้องกันไว้หลายๆ อย่าง ฝึกจินตนาการด้วยบทบาทสมมติ ปลูกความเข้าใจทางทฤษฎีด้วยการฝึกเดินตามจังหวะสอง สาม ฝึกหลายทักษะรวมกัน โดยขณะเดินก็ฝึกทักษะด้านอื่นไปด้วย เช่น การเปล่งเสียง ทั้งมีความหมายและไม่มีความหมาย ตามอารมณ์ ตามความรู้สึกในช่วงเวลานั้น

4. สอนเชื่อมโยงกับวิชาอื่น แม้ว่าวิชาต่างๆ จะถูกแยกสอนแต่ไม่ควรให้วิชาใดมีความสำคัญมากหรือน้อยกว่าวิชาอื่นต่างต้องเสริมกันและกัน และผลัดกันเป็นแกนกลางได้ แล้วแต่ว่าระยะใด ช่วงใดจะเน้นหนักเรื่องอะไร เช่น ในระยะหนึ่งอาจเน้นในเรื่องการอ่าน ครูควรโยงการฝึกจังหวะซึ่งเป็นเรื่องของดนตรี เข้ามาเสริมทักษะการอ่าน ในทำนองเดียวกันบางช่วงเราต้องฝึกทักษะทางดนตรี ครูอาจใช้คำกลอน หรือร้อยแก้วเป็นเครื่องมือ

 

การสอนการเคลื่อนไหว

(นาฏศิลป์และพลศึกษา)

หลักสำคัญของการเคลื่อนไหว คือ การพยายามเคลื่อนไหวร่างกายทุกส่วน เริ่มจาก มือ ศีรษะ ลำตัว ขา และไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกายให้มากที่สุดอย่างเป็นธรรมชาติ

กฏของการเคลื่อนไหว

กายเคลื่อนไหว แต่ใจนิ่งอยู่จากการแตะ (meeting) และการผลัก (parting) สองสิ่งนี้จะนำไปสู่การรู้ตัวว่าร่างกายส่วนไหนเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง เช่น การงอ การบิด การเหยียด และนำส่วนต่างๆ ของร่างกายมาพบกัน ให้ร่างกายคุยกันและเชื่อมโยงกัน ผ่านการแตะ และผลัก พยายามให้การเคลื่อนไหวของแต่ละส่วนของร่างกายไปคนละทาง คนละระดับ

ทักษะเบื้องต้นของการเคลื่อนไหว

หมายถึงการเตรียมพร้อมในเรื่องต่างๆ ดังนี้

* การฝึกสมาธิ

1. การให้เด็กเล่นเครื่องเล่นที่ต้องใช้เวลาในการทำให้เสร็จสมบูรณ์ เช่น เกมต่อภาพ การวาดรูประบายสี เด็กจะต้องได้รับการฝึกให้ทำตั้งแต่ต้นจนจบ เล่นทีละอย่าง ทีละชนิด ไม่ว่าในระดับง่ายหรือยาก

2. ฝึกให้ฟังคุณครูพูดจนจบประโยคและให้เข้าใจความหมายอย่างสมบูรณ์ โดยครูต้องพูดสั้นๆ และต้องแน่ใจว่าขณะที่ครูพูดเด็กจะต้องหยุดกิจกรรมทั้งหมด และตั้งใจฟังคำพูดของครูเพียงอย่างเดียว

* การเตรียมเด็กให้เข้าหมู่เข้าพวกได้

ควรเริ่มต้นจากการให้เด็กสนใจกันก่อนด้วยการให้ทำกิจกรรมใกล้ๆ กันแล้วจับกลุ่มเล็กๆ สักสองสามคนก่อน แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวนขึ้น หากในช่วงแรกเด็กไม่สนใจ ไม่ควรบังคับ ควรใช้วิธีให้เด็กนั่งดูเพื่อนๆ ทำ เด็กจะเริ่มสนใจและอยากเข้าไปในกลุ่มเอง หรือเมื่อเด็กสนใจจะทำกิจกรรมอันใดโดยลำพัง เช่น อ่านหนังสือ วาดรูป ครูควรจะยินดีว่านั่น คือ นิมิตหมายอันดี

* การฝึกหัดให้เด็กทำกิจกรรมตามลำพังด้วยความเชื่อมั่น

การฝึกให้เด็กอยู่โดยลำพังมีความสำคัญเท่าเทียมกับการฝึกหัดให้เด็กเข้าหมู่ได้ เด็กที่รู้จักแต่จะทำตามคนอื่นนั้นแม้จะได้รับความนิยมยกย่องว่าเป็นที่รักใคร่ของเพื่อน เข้ากับคนอื่นได้ เอาใจเก่ง เพียงเท่านั้นไม่พอ เด็กจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่อยู่คนเดียวไม่ได้ ใครจะทำอะไรที่ไหน จะต้องฮือฮาตามเขาเป็นนิจ ทั้งนี้เพราะไม่มีโอกาสได้นั่งทำอะไรเงียบๆ คนเดียว ไม่มีโอกาสได้ทำอะไรด้วยน้ำพักน้ำแรงของตนเอง จึงขาดความคิดสร้างสรรค์และความเชื่อมั่นในตนเองไปอย่างน่าเสียดาย

 

* การฝึกให้เด็กมีความสังเกต

เด็กควรได้รับการฝึกหัดให้สังเกตถึงความเหมือนและแตกต่างของสิ่งรอบตัวที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ และที่ครูจัดเตรียมไว้เป็นอุปกรณ์การเรียน เช่น การรู้จักฟังเสียงธรรมชาติ เสียงลมพัด ดอกไม้ไหว นกร้อง เสียงในท้องถนน

– เสียงที่ใกล้และไกลตัว

– เสียงที่มีระเบียบและไม่มีระเบียบ (เสียดอึกทึก เสียงดนตรี)

– เสียงที่เบามาก ถ้าไม่ได้ตั้งใจฟังจริงๆ จะไม่ได้ยิน เช่น เสียงน้ำหยดจากก๊อก เสียงลมหายใจ รวมทั้งค้นหาเสียงจากสิ่งต่างๆ รอบตัว และส่วนต่างๆ ของร่างกายตนเอง นอกจากนี้ยังควรฝึกให้เด็กรู้จักการเคลื่อนไหวของสิ่งต่างๆ รอบตัว เช่น สิ่งมีชีวิต และสิ่งที่ไม่มีชีวิต สิ่งที่เกิดจากธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น

 

การเตรียมร่างกาย

เด็กควรได้รับการฝึกหัดให้มีความรู้ความเข้าใจถึงลักษณะและสภาพการใช้ร่างกายของตนเองว่าสามารถเคลื่อนไหวแต่ละส่วนได้อย่างไร ร่างกายส่วนไหนเรียกว่าอะไร อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร มีขนาดสั้น ยาว เล็ก ใหญ่ แคบ กว้าง อย่างไร มีบริเวณเคลื่อนไหวมากน้อยเพียงใด เช่น โค้ง งอ บิด เบี้ยว เอี้ยว เอียง หรือขยับเขยื้อนส่วนใดได้บ้าง

เด็กต้องรู้จักการเคลื่อนไหวของตนเองและผู้อื่น และรู้จักใช้ร่างกายแต่ละส่วนให้เป็น “ผู้นำ” การเคลื่อนไหวส่วนอื่น เช่น ให้ไหล่นำลำตัวเคลื่อนไปข้างหน้า รู้จักถ่ายเทน้ำหนัก รู้จักที่จะส่งตัวไปในอากาศ และสามารถบังคับร่างกายให้เคลื่อนไหวในทิศทางแคบกว้าง สิ่งสำคัญครูควรจะสร้างบรรยากาศที่สนุกสนานเสมอ และเคลื่อนไหวอย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อให้เด็กๆ ได้ดูดซับอย่างเต็มที่และใช้ดนตรีประเภทต่างๆ จังหวะต่างๆ ใช้เพลงหลายๆ ชาติ ทั้งสมัยใหม่และสมัยเก่า

พื้นฐานการเคลื่อนไหว คือ การเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของเด็ก เช่น เดิน วิ่ง กระโดด ควบม้า ก้าวกระโดด กลิ้งตัว ไกวตัว ก้าวลากขาไปข้างๆ เขย่งเก็งกอย ฯลฯ เด็กทุกชาติมีการเคลื่อนไหวพื้นฐานเหมือนกันหมด การฝึกฝนควรฝึกการทรงตัวที่ดี ทิ้งน้ำหนักให้ถูกที่ เพื่อใช้พลังน้อยแต่ให้เกิดผลสัมฤทธิ์สูง คล่องแคล่ว ว่องไว

 

 

1. การเดิน ฝึกโดยการหัดเดินด้วยส่วนต่างๆ ของเท้า เช่น จมูกเท้า ปลายเท้า พร้อมทั้งเล่นบทบาทสมมติท่าทางการเดินและลักษระการเดิน เช่น เดินแบบทหาร เดินแบบคนขาหัก และใช้ทำนองเพลงควบคู่กันไป

2. การวิ่ง ควรสอนสลับการเดิน คือ เดินใช้จังหวะช้า วิ่งใช้จังหวะเร็ว การวิ่งที่ถูกต้อง คือ การใช้จมูกเท้าแตะพื้น เวลาซอยเท้าถี่ๆ จะใช้แต่ปลายเท้าก็ได้ ข้อศอกงอสองข้าง เคลื่อนที่ไปมาสลับกับขาเช่นเดียวกับการเดิน ให้เด็กวิ่งตามจินตนาการพร้อมทำเสียงประกอบ

3. การกระโดดขาเดียวหรือสองขา ฝึกกระโดดสองขาจากระดับสูงมาต่ำ กระโดดข้ามเครื่องกีดขวางต่างๆ เช่น เส้นเชือก และเตือนเด็กๆ ไม่ให้เกร็งร่างกายขณะกระโดด

การสอนศิลปะ

ศิลปะจะเป็นสื่อสำคัญในการเรียนรู้เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ โดยจะเป็นตัวช่วยให้นักเรียนได้มีประสบการณ์เกี่ยวกับวัตถุชิ้นนั้น ทั้งทางปัญญา ทางความรู้สึกและความมุ่งมั่น

เด็กเล็กยังไม่สามารถสื่อสารผ่านภาพได้อย่างชัดเจน งานศิลปะของเด็กเป็นไปเพื่อสะท้อนตัวตนของเขาเท่านั้น ครูจึงไม่ควรตัดสินภาพของเด็กว่าถูกหรือผิดหลักความจริง การคอยแก้ภาพของเด็กว่าไม่ถูกต้องเป็นการทำลายตัวตนของเด็ก

วิธีการ คือ การช่วยกันมองภาพของกันและกัน การที่คนอื่นเห็นคุณค่าของภาพในมุมที่เราไม่เห็นจะนำไปสู่การแตกหน่อทางความคิดได้ และเป็นรากฐานของการรู้จักพลังความคิดร่วมกัน

** เคล็ดลับการสอนเด็กที่ไม่กล้าวาด

เปลี่ยนอุปกรณ์ – วาดด้วยพู่กันแทนการใช้ดินสอ เพราะดินสอจะเป็นการโยงไปสู่การเขียนอักษร

เปลี่ยนอิริยาบถ – ให้นักเรียนลองเปลี่ยนอิริยาบถ เช่น กระแอมดังๆ แล้วลองทำใหม่

สร้างแรงกระตุ้น – ถ้าเด็กบอกว่าทำไมสิ่งที่ออกมาไม่เป็นอย่างที่ต้องการ ให้ครูเพิ่มวัสดุที่ใช้ เช่น สี หรือ ดิน แล้วถามว่าดีขึ้นไหม แล้วให้เด็กแก้ปัญหาจนได้คำตอบสำหรับตนเอง

Translate »