"เลี้ยงลูกอย่างไรให้ฉลาด"

ในงานสัมมนาวันที่ 28 มกราคม 2551

ณ ลานละคร ห้องสมุด โรงเรียนปลูกปัญญา

บรรยากาศในวันนั้นอาจารย์เปิดประเด็นด้วยการถาม กระตุ้นให้ผู้ปกครองคิด “ความทุกข์ของคนรุ่นใหม่คืออะไร” ผู้ปกครองร่วมมือเป็นนักเรียนที่ดีด้วยการตอบคำถามของอาจารย์ “ความอยาก” ผู้ปกครองท่านหนึ่งตอบ  อาจารย์ไม่ได้บอกว่าถูกหรือผิด แต่ก็บอกว่าใกล้เคียงแต่ชี้ให้เราเห็นว่าความอยากทำให้เราใช้ชีวิตอย่างมีเป้าหมาย มันไม่ได้ทำให้เราทุกข์เท่าไหร่นัก แต่สิ่งที่ทำให้เราทุกข์ คือ เวลาเราทุกคนต่างเป็นทาสของเวลา ถ้าเรามาไม่ทันเวลาก็จะวิ่งตามมันอยู่นั่นจนทำให้เราทุกข์ เพราะฉะนั้นเคล็ดลับที่จะไม่ทำให้เราทุกข์  คือ เราต้องเป็นผู้คุมเวลา มาก่อนเวลาเราถึงจะรู้ว่าเราใช้เวลาอย่างไร ผู้ปกครองต่างฉงนสนเท่ห์ไปตามกันกับคำถามง่ายๆ ของอาจารย์แต่คำตอบยากยิ่ง แล้วอาจารย์ก็ยิงคำถามที่ 2 ตามมาติดๆ

“ครูคือใคร” อาจารย์ใช้วิธีเดิมก่อนจะสรุปให้เราฟังว่า “ครู คือ คนที่สร้างอนาคตของชาติผ่านเด็ก” ครูของเด็กๆ มีสามคน คนที่หนึ่งพ่อแม่ คนที่สองครูที่โรงเรียน ครูที่สามคนแก่

ครูคนที่ 1 พ่อแม่

เป้าหมายในการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ คือ การสร้างให้ลูกยืนบนขาของตนเองให้ได้  พ่อแม่ไม่ใช่เจ้าของบงการชีวิตลูก พ่อแม่เป็นแค่คำสอนที่คอยส่งเสริมลูก แต่ผู้เล็งธนู คือ ลูก เขาไปทิศทางใดนั้นขึ้นอยู่กับกรรมของเขา เพราะฉะนั้นหน้าที่ของพ่อแม่ คือ ให้โอกาสให้เขาได้เลือกในสิ่งที่เขาอยากจะเป็น พ่อแม่มีหน้าที่จัดสรรให้เขามีประสบการณ์ที่หลากหลาย ให้เขาเรียนรู้ด้วยปัญญาของตนเอง ให้เขามีความสุขและประสบความสำเร็จในชีวิตด้วยตนเอง ความสำเร็จในชีวิตมิได้วัดได้ด้วยชื่อเสียงและเงินทอง แต่วัดด้วยการใช้ชีวิตอย่างมีความสุขกับสิ่งที่เขาทำหรือไม่

ที่สำคัญ คือ การพูดภาษาเดียวกันกับลูก  คุยกับลูกให้รู้เรื่อง ให้เข้าใจ มิใช่ให้เขาไปเข้าใจคนอื่นที่มิใช่พ่อแม่ ถ้าอยากให้ลูกเป็นอย่างไร เราก็ต้องฝึกตนเองให้เป็นแบบนั้น ถ้าอยากสอนลูกให้เป็นมาร ก็เลี้ยงลูกด้วยการฝึกบำรุงบำเรอจนสบายจนเคยตัว ถ้าอยากสอนลูกให้เป็นเทพ เราก็ต้องสอนให้เขานึกถึงผู้อื่น

สิ่งที่เราควรสร้างให้กับลูกของเราคือ

  • สร้างหัวใจให้ปราศจากความเกลียด ให้นึกถึงคนที่ด้อยกว่าเรา จิตใจเราจะเบิกบานถ้าเราไม่ทอดทิ้งผู้ทุกข์ยาก มนุษย์เป็นสัตว์ที่ชอบแบ่งแยก ธรรมชาติไม่เคยแบ่งแยก แม้ว่ามีความแตกต่างก็ตาม การสร้างหัวใจให้ปราศจากความเกลียด คือ การสอนให้มีแต่ความรักแต่ต้องเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข
  • สร้างให้เขามีความคิดที่ปราศจากความวิตกกังวล ความวิตกกังวลเกิดขึ้นเพราะเราไม่ได้อยู่กับปัจจุบัน เราอยู่กับอนาคตเราไม่ได้นึกถึงคุณค่าของปัจจุบัน ปัจจุบัน คือ สิ่งมหัศจรรย์ที่สุดในชีวิต อดีต คือ แนวทางคือ เป้าหมาย เพราะฉะนั้นถ้าเราทำเป้าหมายดี อดีตของเราก็จะดี แล้วอนาคตของเราก็จะดีตามไปด้วย เราก็จะไม่ใช้ชีวิตอยู่บนความวิตกกังวลหรือความกลัว
  • จงสอนลูกให้ใช้ชีวิตเป็นอิสระจากสังคม ไม่ใช่ตามสังคมอย่างไม่ลืมหูลืมตา เราควรจะคิดว่าเราทำอะไรไปเพื่ออะไร ไม่ทำตามคนอื่น การที่เราไม่กล้าทำตามสังคมเป็นเพราะเรากลัวที่เราจะแตกต่าง อาย กลัวจะไม่ได้รับการยอมรับ จึงทำให้เรานึกถึงความรู้สึกคนอื่นว่าเขาจะรู้สึกอย่างไรมากกว่าจุดยืนของตนเอง ดังนั้น จงใช้ชีวิตให้เป็นอิสระทำชีวิตให้ง่าย เลี้ยงลูกให้ปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ต่างๆได้ แม้จะไม่มีเราอยู่ก็ตาม เอาให้น้อย ให้ให้มาก เป็นการสอนให้ลูกช่วยเหลือคนอื่น และเป็นการสร้างบารมีให้กับตนเอง ซึ่งพ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างในการสร้างฐานบารมีให้กับลูก

ครูคนที่ 2 ครูที่โรงเรียน

ครูมีหน้าที่สร้างคน สอนให้เขาคิดเป็นอย่าทำลายความสนใจและอยากเรียนรู้ของเด็ก จงเรียนรู้ไปกับคำถามของเขา ค่อยใช้กระบวนการคิดและค่อยๆ ให้ข้อมูล

ดังนั้น ครูควรจะมีธรรมะของครู คือ พรมวิหาร 4

เมตตา

คือ การให้ การให้มี 5 อย่าง

1. ให้อภัย             2. ให้โอกาส

3. ให้คำชี้แนะ          4. ให้ความช่วยเหลือ

5. ให้เสรีภาพ

กรุณา

คือ การมีน้ำใจพร้อมที่จะช่วยเหลือทุกคนอย่างเท่าเทียมและเสมอภาค

มุทิตา

คือ การให้คำชื่นชมหรือแสดงความยินดี เมื่อเด็กประสบความสำเร็จในสิ่งที่เขาทำหรือทำได้

อุเบกขา

คือ การวางเฉย ครูต้องไม่อวดอ้างตนเองว่าเป็นผู้รู้ดีทุกอย่าง ความรู้ไม่ใช่การที่ครูจะแสดงอำนาจกับเด็ก แต่เป็นการสอนให้เด็กมีปัญญา ซึ่งเป็นการเรียนรู้ระหว่างครูกับเด็ก

ครูคนที่  3  คนแก่ หรือ ผู้อาวุโส

คนแก่ต่างกับคนชราตรงไหน คนแก่ แก่ที่ประสบการณ์ คนที่ผ่านการใช้ประสบการณ์ชีวิตที่หลากหลาย แต่คนชรา คือ ที่อวัยวะข้างในเสื่อมถอย ดังนั้นคนแก่ จึงมิใช่คนชราบางทีเราก็พบคนแก่ที่ไม่ถึงขั้นคนชราก็มี

คนแก่ทำให้การเรียนรู้ของเราไม่ต้องเริ่มนับที่หนึ่งใหม่ คนไทยจึงสอนให้เราเคารพผู้อาวุโส แต่ไม่ได้สอนให้เถียง สอนให้ฟัง แล้วคิดวิเคราะห์ แต่ไม่ได้สอนให้เชื่ออย่างไม่มีเหตุผล ตามหลักกาลามสูตร การเชื่อก็ต้องเชื่อ ณ ขณะนั้น ไม่ได้สอนให้เชื่อตลอด เพราะสิ่งที่เราเชื่อมันแปรเปลี่ยนไปตามเหตุปัจจัย เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง

Translate »